กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดย ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมวัสดุ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร สำนักจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมด้วย กองประชาสัมพันธ์ สำนักสื่อสารองค์กร นำผลงานวิจัยพัฒนา วว. ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก และ Health and Well-Being ร่วมจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ ในนิทรรศการระบบวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) กับการนำผลงานวิจัยไปสู่การใช้ประโยชน์ประจำปี 2565
ซึ่ง สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สก.สว.) จัดขึ้นระหว่างวันที่ 11-26 กรกฎาคม 2565 ณ ชั้น 1 อาคารรัฐสภา เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา คณะกรรมาธิการชุดต่างๆ และเจ้าหน้าที่วิชาการของรัฐสภาได้ทราบถึงผลงานวิจัยและนวัตกรรมในระบบ ววน. ที่สามารถสร้างผลลัพธ์และผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศ อันจะนำไปสู่การเชื่อมโยงให้เกิดการนำผลงานวิจัยและนวัตกรรมไปใช้ในภาคนโยบายและขับเคลื่อนไปสู่ประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยผลงานของ วว. ที่นำไปร่วมจัดแสดง ประกอบด้วย
การปรับปรุงคุณสมบัติ แปรรูปเศษวัสดุทางการเกษตรให้เหมาะสมสำหรับการใช้เป็นเชื้อเพลิงชีวมวล วว. ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาด้านพลังงานทดแทนจากชีวมวล การรับบริการทดสอบคุณสมบัติของเชื้อเพลิงแข็ง ทำให้เชื้อเพลิงชีวมวลมีคุณสมบัติด้านการเผาไหม้ที่เหมาะสม ขนาดและค่าความร้อนมีความสม่ำเสมอ เก็บรักษาง่าย ขนส่งได้สะดวก และสนับสนุนการลดการปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เช่น
– เชื้อเพลิงแข็งจากวัสดุเหลือทิ้งของอุตสาหกรรมปาล์มน้ำมัน (ทะลายปาล์มเปล่า ต้นปาล์ม เป็นต้น)
– เชื้อเพลิงแข็งจากใบอ้อย
– เชื้อเพลิงชีวมวลคุณภาพสูงจากขี้เลื่อยหรือเศษไม้ยางพารา
โดยมีทั้งแบบเทคโนโลยีพื้นฐาน ได้แก่ การอัดแท่งเชื้อเพลิงทั่วไป หรือการใช้กระบวนการทางเคมีความร้อน เช่น ไฮโดรเทอร์มอลคาร์บอไนเซชัน ทอร์ริแฟคชัน เป็นต้น ในการปรับปรุงคุณสมบัติด้านการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงให้ดีขึ้น ลดผลกระทบต่อห้องเผาไหม้ของหม้อไอน้ำ ทำให้สามารถใช้งานในสัดส่วนหรือปริมาณที่สูงขึ้นได้ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ภาชนะจากวัสดุธรรมชาติ ทดแทนการใช้พลาสติก เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร วว. มุ่งเน้นการดำเนินงานวิจัยพัฒนาและบูรณาการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อสร้างคุณค่ามูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจประเทศ การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรด้วยการพัฒนาเป็นภาชนะในรูปแบบต่างๆ ที่สามารถนำไปใช้กับชีวิตประจำวันจึงมีประโยชน์ทั้งในแง่ของสิ่งแวดล้อม การเพิ่มช่องทางการดำเนินธุรกิจและการประกอบอาชีพให้กับสังคม
ภาชนะใบไม้และภาชนะจากเยื่อพืชมีข้อดีคือ ช่วยลดการใช้ภาชนะพลาสติกและโฟมสำหรับใส่อาหาร ลดปัญหาสิ่งแวดล้อมจากการเผาขยะพลาสติกที่มีผลต่อสภาวะอากาศที่เป็นพิษในปัจจุบัน นอกจากนี้ยังมีจุดเด่นที่น่าสนใจคือ ผลิตจากวัสดุธรรมชาติ มีอายุการเก็บรักษาในที่แห้งได้มากกว่า 6 เดือน โดยไม่เป็นเชื้อรา จึงเป็นผลงานที่ตอบโจทย์สังคมผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น สะดวกและปลอดภัย
ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร : เจลลูกประคบ วว. วิจัยและพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่จากสมุนไพรไทย ที่ใช้วิธีการสกัดน้ำมันหอมระเหยจากสมุนไพรที่ใช้ในลูกประคบ เช่น ไพล ขมิ้นชัน มะกรูด ตะไคร้ เป็นต้น พัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ในรูปแบบของเจล โดยผลิตภัณฑ์ยังคงประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดเมื่อย ปวดบวมจากกล้ามเนื้ออักเสบ เคล็ดขัดยอก ฟกช้ำ
เช่นเดียวกับการประคบด้วยลูกประคบสมุนไพร เพื่อให้ผู้บริโภคได้ใช้ผลิตภัณฑ์สะดวกและยังคงประสิทธิภาพของสมุนไพรในลูกประคบอย่างครบถ้วน ถือเป็นอีกหนึ่งผลงานวิจัยที่ได้นำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม มาสืบสานภูมิปัญญาจากสมุนไพรไทย และประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับชีวิตประจำวัน ผลิตภัณฑ์นอกจากจะให้ฤทธิ์การรักษาดังเดิมแล้วยังสะดวก ปลอดภัย ได้มาตรฐาน เหมาะกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน
วว. พร้อมให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้คำแนะนำปรึกษาด้านธุรกิจ ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้แก่ภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนาศักยภาพในการแข่งขัน เสริมแกร่งเกษตรกร ผู้ประกอบการ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ได้ที่ โทร. 0 2577 9000 โทรสาร 0 2577 9009 เว็บไซต์ www.tistr.or.th E-mail : tistr@tistr.or.th line@TISTR IG : tistr_ig