ศรีสะเกษ เดินหน้าขจัดจนฯ มิติความเป็นอยู่ “คนเมืองศรี ฮักแพงแบ่งปัน” ร่วมมอบบ้านตามโครงการสร้างหรือซ่อมแซมบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ

ศรีสะเกษ เดินหน้าขจัดจนฯ มิติความเป็นอยู่ “คนเมืองศรี ฮักแพงแบ่งปัน” ร่วมมอบบ้านตามโครงการสร้างหรือซ่อมแซมบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ ในพื้นที่อำเภอไพรบึง

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 เวลา 13.30 – 15.30 น. ณ หมู่ที่ 18 ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ

นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายให้นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ เป็นประธานมอบบ้านตามโครงการซ่อมแซม สร้างบ้านให้กับผู้ยากไร้ หรือผู้ด้อยโอกาสทางสังคม เฉลิมพระเกียรติ 90 พรรษา สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง องค์สภานายิกาสภากาชาดไทย และโครงการสร้าง/ซ่อมบ้านให้ผู้ขาดโอกาส “เฮือนดีๆ ศรีสะเกษ ไม่ทิ้งกัน” เนื่องในงานเฉลิมฉลอง 238 ปี จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 1 หลัง

โดยมี นายอำเภอไพรบึง รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัด รองประธานแม่บ้านมหาดไทยจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการในสังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ แรงงานจังหวัด คลังจังหวัด หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด เกษตรจังหวัด สมาชิกเหล่ากาชาดจังหวัด หัวหน้าส่วนราชการอำเภอ จิตอาสาพระราชทาน ผู้บริหาร อปท. ผู้ปกครองท้องที่ อสม. อพปร. ชรบ. ผรส. เข้าร่วมพิธี

ในการนี้ นางสาววริศรา โสภาค พัฒนาการจังหวัดศรีสะเกษ มอบหมายให้ นางสาวธนพร ขจิตเวทย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน พร้อมด้วยนางสุวรรณ จิตหนักแน่น พัฒนาการอำเภอไพรบึง นักวิชาการพัฒนาชุมชนจังหวัด นำคณะผู้ตรวจ นายสรสาสน์ สีเพ็ง ผู้ตรวจราชการกรมการพัฒนาชุมชน เขตตรวจราชการที่ 14 ลงพื้นที่ร่วมมอบบ้านตามโครงการสร้างหรือซ่อมแซมบ้านให้แก่ผู้ยากไร้ ผู้ด้อยโอกาส ผู้พิการ และผู้ประสบความทุกข์ยากเดือดร้อน เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวงฯ ในพื้นที่อำเภอไพรบึง

และมอบร่วม มอบพันธุ์ผัก สิ่งของ เครื่องอุปโภคบริโภค และเครื่องใช้จำเป็น ให้แก่ นางอรอนงค์ สุพรรณ์ บ้านเลขที่ 100 หมู่ที่ 18 ตำบลไพรบึง อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ จากการลงพื้นที่ของทีมปฏิบัติการฯ พบว่าสมาชิกครัวเรือนที่อาศัยอยู่ด้วยกันปัจจุบัน จำนวน 6 คน สมาชิกครัวเรือน เป็นผู้พิการ 4 คน ทีมพี่เลี้ยงวิเคราะห์ตามหลัก ๔ ท.และแสดงถึงความจำเป็นที่ต้องรับการช่วยเหลือเร่งด่วน

ครอบครัว นางอรอนงค์ สุพรรณ์ ปัจจุบันประกอบอาชีพ ทำนา มีที่ดินทำกินจำนวน 7 ไร่ และที่ดินสำหรับปลูกสร้างบ้านจำนวน 2 งาน สมาชิกในครัวเรือนที่อยู่ประจำ จำนวน 6 คน พิการ 4 คน และปกติ 2 คน เนื่องจากนายเที่ยง สุภาพ (พ่อ) เจ้าบ้าน เป็นสูงอายุและมีความพิการหลังค่อม จึงไม่สามารถทำงานหาเลี้ยงชีพได้ อีกทั้งสมาชิกในครัวเรือนที่เหลือก็เป็นผู้พิการ จะมีเพียง นายบุญโชติ สุพรรณ์ ลูกเขย และลูกสาว เป็นผู้ดูแลครอบครัว จึงทำให้มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ประกอบกับที่อยู่อาศัยปัจจุบัน มีสภาพไม่มั่นคงถาวร ไม่มีความปลอดภัยในการพักอาศัย ไม่มีห้องสุขา ที่อาบน้ำสำหรับผู้พิการ เป็นครัวเรือนตกเกณฑ์ TPAMP ๒ตัวชี้วัด ประกอบด้วย ตัวชี้วัดที่ ๘ ครัวเรือนมีความมั่นคงในที่อยู่อาศัยและบ้านมีสภาพคงทนถาวร และตัวชี้วัดที่ ๒๒ รายได้เฉลี่ยของคนในครัวเรือนต่อปีน้อยกว่า 40,ooo บาท/คน/ปี (จปฐ.65)

ซึ่งคจพ.อ.ไพรบึง ได้ส่งข้อมูลให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหามิติด้านความเป็นอยู่ และได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุน 238 ปี จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 50,000 บาท และการสนับสนุนเพิ่มเติมจากส่วนราชการ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน พร้อมวัสดุก่อสร้างเพิ่มเติมจำนวน 75,511 บาท รวมทั้งสิ้น 125,511 บาท ก่อสร้างโดยการสละแรงงาน อปท.กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และจิตอาสาในพื้นที่

นอกจากนี้ในการขับเคลื่อนงาน ของทีมพี่เลี้ยงงานการให้ความช่วยเหลือ ให้ครัวเรือนเป้าหมาย เมื่อ “อยู่รอด” และ ให้ “พอเพียง ยั่งยืน” สร้างความมั่นคงทางอาหาร ยกระดับการพัฒนาคุณภาพชีวิตด้วยการสร้างสัมมาชีพชุมชน ปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาตนเองตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ต่อไป

นางสาวชนมณัฐ รอดบุญธรรม รองผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า รัฐบาลได้เล็งเห็นความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดความเลื่อมล้ำ โดยได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือ ศจพ. เป็นกลไกในการขับเคลื่อน โดยกำหนดให้นำข้อมูลครัวเรือนยากจน ในระบบ TPMAP ไปดำเนินการให้ความช่วยเหลือให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนา อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืนตามแนวทางการขับเคลื่อนที่ ศจพ. กำหนด ซึ่งทีมพี่เลี้ยงทีมปฏิบัติการฯ และ ศจพ. ในระดับต่าง ๆ ลงพื้นที่เป็นรายครัวเรือน ร่วมกับครัวเรือนวิเคราะห์สภาพปัญหาและกำหนดแนวทางการแก้ไขด้วยปฏิบัติการ 4ท (ทัศนคติ/ทักษะ/ทรัพยากร/ทางออก) พบว่าจังหวัดศรีสะเกษมีกลุ่มเป้าหมายที่ต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือ 17,118 ครัวเรือน

จากการขับเคลื่อนการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยฯ ในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา พบว่า ครัวเรือนเป้าหมายได้รับความช่วยเหลือตามสภาพปัญหาแล้ว คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวเป็นการให้ความช่วยเหลือแบบพุ่งเป้า (ตัดเสื้อพอดีตัว) เพื่อให้ตรงตามสภาพปัญหาและความต้องการของครัวเรือนเป้าหมาย

ทั้งนี้ การขจัดความยากจนมีความจำเป็นที่จะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ด้วยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของทีมพี่เลี้ยงที่จะต้องเข้าไปดูแลครัวเรือนเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ถึงแม้ว่าหน่วยงานภาครัฐมีแผนงาน โครงการดูแลช่วยเหลือประชาชนตามอำนาจหน้าที่อยู่แล้ว แต่การขจัดความยากจนแบบพุ่งเป้าตามนโยบายของรัฐบาลจะช่วยเติมเต็มการทำงานเพื่อให้ประชาชนอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขต่อไป

นอกจากนี้ ด้วยความห่วงใยพี่น้องประชาชนชาวจังหวัดศรีสะเกษ ของ นายวัฒนา พุฒิชาติ ผู้ว่าราชการ จังหวัดศรีสะเกษ ได้กำหนดกิจกรรม “คู่บุญ โคก หนอง นา พา แก้จน” ให้ ผู้นำจิตอาสาพัฒนาชุมชน ในพื้นที่ และครัวเรือนโคก หนอง นา พช. ใช้พื้นที่ศูนย์เรียนรู้ต้นแบบฯ การน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นพี่เลี้ยง “ครัวเรือนเป้าหมายฯ” มาปรับใช้จนเป็นวิถี ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

ซึ่งการขับเคลื่อนงานในห้วงระยะที่ผ่านมา เห็นการทำงานร่วมกันทุกภาคส่วน เชื่อมกันทุกมิติ ทั้ง 5 มิติเพื่อแก้ไขปัญหาความขัดสน บูรณาการแผนงาน จัดทำเมนูการให้ความช่วยเหลือครัวเรือนเป้าหมาย ให้ “อยู่รอด พอเพียง ยั่งยืน” ย้ำ “ทุกคนมีศักยภาพ พัฒนาได้” ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครือข่ายในพื้นที่ ให้ร่วมมือกันทำงาน ทั้งสงเคราะห์ และที่สำคัญ “พัฒนา” จากสิ่งที่มีอยู่เป็นทุนเดิม จึงเกิดการขับเคลื่อนงานที่จะผลักดันครัวเรือนเปราะบางเข้าสู่ห่วงโซ่คุณภาพ ให้สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน

“คนเมืองศรี ฮักแพงแบ่งปัน สุขเสมอกันที่ศรีสะเกษ”

พัฒนาชุมชนศรีสะเกษ : นครแห่งความสุข

กลุ่มงานสารสนเทศการพัฒนาชุมชน : รายงาน