กรมควบคุมโรค เตือนนักท่องเที่ยวช่วงมรสุมไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล อาจโดนคลื่นทะเลดูด แนะวิธีสังเกตและวิธีการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ

กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เตือนนักท่องเที่ยวช่วงมรสุมไม่ควรลงเล่นน้ำทะเล เนื่องจากมีคลื่นลมแรง และอาจถูกกระแสน้ำย้อนกลับ หรือคลื่นทะเลดูด คลื่นดอกเห็ด พร้อมแนะวิธีสังเกตและวิธีการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ

วันที่ 20 กรกฎาคม 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ในช่วงเดือนมิถุนายน จนถึงเดือนตุลาคม เป็นช่วงมรสุมจึงส่งผลให้ระหว่างช่วงเดือนดังกล่าวมีฝนตกชุก ทะเลมีคลื่นลมแรงไม่สามารถเล่นน้ำได้ ทางกรมควบคุมโรค จึงขอเตือนนักท่องเที่ยวที่มาเล่นน้ำบริเวณชายหาด ให้ระวังคลื่นลมแรง และกระแสน้ำย้อนกลับ คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด (Rip Current) ซึ่งมีโอกาสเกิดขึ้นได้แทบทุกหาด

กระแสน้ำย้อนกลับ หรือที่ชาวบ้านเรียกว่า คลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ด (Rip Current) เป็นกระแสน้ำรุนแรงที่เกิดขึ้นตามชายหาด เกิดจากการที่คลื่นทะเลซัดเข้าหาฝั่ง แล้วไหลออกสู่ทะเล แต่เจอสิ่งกีดขวาง เช่น โขดหินหรือสันทรายขวางอยู่ ทำให้น้ำทะเลไหลรวมกันผ่านช่องแคบๆ ระหว่างสิ่งกีดขวางเหล่านั้น กระแสน้ำจึงพัดออกจากฝั่งด้วยความแรง ส่วนบริเวณที่เกิดคลื่นทะเลดูด หรือคลื่นดอกเห็ดนั้นสามารถสังเกตได้จาก

1) สีของน้ำทะเล จะมีสีที่ขุ่นขาวกว่าบริเวณอื่น เนื่องจากกระแสน้ำได้พัดเอาตะกอนใต้น้ำฟุ้งขึ้นมา

2) บริเวณชายหาด จะมีคลื่นแบบไม่ปะติดปะต่อกัน มีลักษณะเป็นร่อง แนวคลื่นขาดหาย

3) บริเวณปลายกระแสน้ำ มักเป็นรูปคล้ายดอกเห็ด

สำหรับการป้องกันและวิธีการเอาชีวิตรอด คือ

1) ควรเล่นน้ำในบริเวณที่กำหนดไว้

2) ห้ามลงเล่นน้ำในบริเวณที่มีธงแดง

3) หากตกเข้าไปอยู่ในกระแสน้ำย้อนกลับ หรือคลื่นทะเลดูด หรือคลื่น ดอกเห็ด ควรตั้งสติให้ดี ไม่ว่ายทวนกระแสน้ำเพราะจะทำให้หมดแรงและจมน้ำได้ ควรว่ายน้ำขนานไปกับชายฝั่ง เมื่อพ้นจากแนวกระแสน้ำย้อนกลับแล้ว จึงว่ายกลับเข้าฝั่ง

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค โดยกองป้องกันการบาดเจ็บ ได้จัดทำสื่อเรื่องดังกล่าวในรูปแบบเทคโนโลยีโลกเสมือน (Augmented Reality) หรือสื่อ AR ให้ผู้ใช้งานในระบบ Android สามารถเข้าไปติดตั้งแอปพลิเคชัน “ป้องกันจมน้ำ” ได้ที่ Play Store เพื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการป้องกัน และวิธีการเอาชีวิตรอดจากการจมน้ำเพิ่มเติมได้

********************************
ข้อมูลจาก : กองป้องกันการบาดเจ็บ/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 20 กรกฎาคม 2565