ปวดศีรษะบ่อยครั้ง เหนื่อยง่าย ท้องผูก เบื่ออาหาร กลิ่นตัวแรง เป็นลมพิษได้ง่าย สมรรถภาพทางเพศเสื่อม หมอแนะนำ 3 เทคนิค
นายแพทย์สรรพงศ์ ฤทธิรักษา ประธานศูนย์ข้อมูลยาสมุนไพรการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ในปัจจุบันร่างกายของเราต้องเผชิญกับสารพิษที่ปนเปื้อนมาในรูปแบบต่าง ๆ สะสมในร่างกาย จากการบริโภคอาหาร เครื่องดื่ม ฝุ่นควัน รวมถึงมลภาวะต่าง ๆ หากร่างกายมีสารพิษสะสมอยู่ในปริมาณมาก ส่งผลให้มีอาการ เช่น ปวดศีรษะบ่อยครั้ง ระบบเผาผลาญทำงานลดลง ทำให้อ้วน เกิดสิวเสี้ยนและฝ้าดำบนใบหน้า ท้องผูก ขับถ่ายลำบาก เบื่ออาหาร เหนื่อยง่าย กลิ่นตัวแรง มีกลิ่นปาก มีผื่นคันหรือแผลเปื่อยขึ้นตามตัว เป็นลมพิษได้ง่าย สมรรถภาพทางเพศเสื่อม
การแพทย์แผนไทยมีวิธีการขับสารพิษออกจากร่างกายด้วยวิธีการทางธรรมชาติ เพื่อกำจัดของเสียออกทางตามช่องทางหลัก ๆ ได้แก่ ทางเดินอาหาร ทางเดินปัสสาวะ ทางผิวหนัง และทางเดินหายใจ จึงขอแนะนำ 3 เทคนิค ในการขับสารพิษหรือสารส่วนเกิน ดังนี้
เทคนิคที่ 1 – การนวดตัว เพื่อกระตุ้นและปรับสมดุลของระบบการไหลเวียน ช่วยให้เลือดลมไหลเวียนได้สะดวกระบบน้ำเหลืองทำงานได้ดี ช่วยให้กล้ามเนื้อคลายตัว ระบบย่อยอาหารทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
– การนวดเท้า เป็นการเสริมการกระตุ้นระบบไหลเวียนเลือดและน้ำเหลือง ป้องกันโรคท้องผูก กระตุ้นการทำงานของระบบประสาท
เทคนิคที่ 2 – การอบสมุนไพร ช่วยเพิ่มการไหลเวียนโลหิต ผ่อนคลายความตึงเครียด ช่วยขับน้ำส่วนเกินและของเสียออกจากร่างกาย ช่วยบำรุงผิวพรรณ บรรเทาอาการผดผื่นคัน กระตุ้นระบบทางเดินหายใจ ผ่อนคลายกล้ามเนื้อ บรรเทาอาการปวดเมื่อย ลดอาการปวดศีรษะ – การแช่เท้าในน้ำสมุนไพร ช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิตจากปลายเท้าไปทั่วร่างกาย – พอกเข่า ช่วยลดอาการปวดบวมบริเวณเข่า
เทคนิคที่ 3 – การใช้สมุนไพรที่ช่วยลดสารพิษ เช่น รางจืด ขับพิษจากยาฆ่าแมลง พิษจากสารเคมี และยาเบื่อต่าง ๆ ย่านาง แก้พิษจากการรับประทานอาหารผิดสำแดง แก้ผดผื่นคัน ร้อนใน กระหายน้ำ กระเทียม ช่วยลดระดับไขมันในเลือด ป้องกันโรคหัวใจ ป้องกันหวัด กระเจี๊ยบเขียว มีเส้นใยที่มีคุณสมบัติในการละลายน้ำ ช่วยดูดซับสารพิษให้ขับถ่ายออกมาทางลำไส้ใหญ่ ฯลฯ
นอกจากนี้ก็ควรดื่มน้ำให้เพียงพอ อย่างน้อยวันละ 8 แก้ว นอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 6 – 8 ชั่วโมง ออกกำลังกายเป็นประจำ หากท่านใดสนใจการขับสารพิษ ด้วยวิธีแพทย์แผนไทย สามารถติดต่อได้ที่โรงพยาบาลการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ผสมผสาน โทรศัพท์ 0 2224 3261-2 ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพแผนไทย 0 2590 2606 0 2591 1964 และงานด้านการแพทย์แผนไทยในโรงพยาบาลของรัฐทั่วประเทศ