กรมอนามัย แนะโรงเรียนทำความสะอาดครัว โรงอาหาร รับเด็กเปิดเทอม

นายแพทย์ดนัย ธีวันดา  รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า ช่วงปิดเทอม โรงครัว และโรงอาหาร จะไม่ได้ใช้งานซึ่งทำให้เกิดการสะสมของฝุ่น หยากไย่ รวมทั้งอาจเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ต่างๆ เช่น นก หนู หรือแมลงนำโรคได้ ดังนั้น ก่อนเปิดเทอมโรงเรียนควรทำความสะอาดโรงครัวและโรงอาหารให้ทั่วเสียก่อน โดยเริ่มตั้งแต่พื้น ฝาผนัง เพดานโรงอาหาร และครัว ที่เป็นสถานที่ใช้ประกอบอาหาร  รวมถึงโต๊ะ เก้าอี้ โดยใช้ไม้กวาดด้ามยาว ปัด กวาด หยากไย่ ใยแมงมุม จากนั้นกวาดและล้างพื้นด้วยน้ำและผงซักฟอกเพื่อกำจัดคราบสกปรก พร้อมฆ่าเชื้อโรคโดยใช้น้ำผสมผงปูนคลอรีน 60 เปอร์เซ็นต์ ปริมาณ 1 ช้อนชา ต่อน้ำ 20 ลิตร ราดบริเวณพื้น ทางเดิน ทางระบายน้ำเสีย ถังขยะ ปล่อยทิ้งไว้เพื่อให้คลอรีนฆ่าเชื้อโรค โต๊ะ เก้าอี้ ใช้ผ้าชุบน้ำเช็ดให้สะอาดจากนั้นนำไปตากแดดให้แห้ง  ส่วนภาชนะและอุปกรณ์ทั้งหมดต้องนำมาล้างทำความสะอาดใหม่ก่อนนำมาใช้ รวมทั้งตรวจสภาพ ซ่อมแซม     อ่างล้างวัตถุดิบ อ่างล้างภาชนะ อ่างล้างมือ ให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์พร้อมใช้งาน ส่วนอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับแก๊สและไฟฟ้าควรตรวจตราให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัย สำหรับการทำความสะอาดตู้น้ำดื่มนั้น หากเป็นตู้น้ำแบบกดให้      ทำความสะอาดทั้งภายในและภายนอกตู้ รวมถึงบริเวณที่ตั้งตู้ ก๊อกน้ำ และรางน้ำ ส่วนภายในตู้บรรจุน้ำต้องขัดคราบสกปรก ตะกอน ล้างออกด้วยน้ำสะอาดจากนั้นฆ่าเชื้อโรคด้วยคลอรีนตามปริมาณข้างต้น ในกรณีที่มี   เครื่องกรองน้ำ ต้องตรวจดูว่าครบตามระยะเวลาที่ต้องล้างเครื่องกรองหรือเปลี่ยนไส้กรองตามคำแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้น ๆ หรือไม่ โดยศึกษาจากคู่มือ ที่สำคัญหากใช้ตู้น้ำดื่มที่ใช้ไฟฟ้าต้องตรวจเช็คการชำรุด บกพร่อง   ของระบบไฟฟ้าที่ใช้ ตรวจเช็คไฟฟ้ารั่วตามจุดต่าง ๆ โดยเฉพาะบริเวณก๊อกน้ำที่ถือเป็นจุดเสี่ยง เพื่อป้องกันไฟฟ้าดูดนักเรียนในขณะใช้งาน

นายแพทย์ดนัย กล่าวต่อไปว่า เกณฑ์มาตราฐานการสุขาภิบาลอาหารสำหรับโรงอาหารของกรมอนามัย สถานที่เตรียม ปรุงอาหาร ต้องสะอาด เป็นสัดส่วน ไม่วางสิ่งของเกะกะ และไม่มีเศษขยะ เศษอาหารทำความสะอาดได้ง่ายและทั่วถึง แยกบริเวณที่เตรียมอาหารสดประเภทเนื้อสัตว์ และผัก ผลไม้ ออกจากกัน ทำความสะอาดปล่องระบายควันเป็นประจำ ผนังบริเวณเตาไฟต้องมีสภาพดี ทำจากวัสดุที่ทำความสะอาดง่าย เช่น สเตนเลส กระเบื้องเคลือบ โต๊ะเตรียมปรุงต้องสะอาด อยู่ในสภาพดี และสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร สำหรับภาชนะและอุปกรณ์ เช่น จาน ชาม ช้อน ส้อม ต้องไม่มีลวดลายในส่วนที่สัมผัสอาหาร เขียงต้องไม่แตกร้าว ไม่เป็นร่อง ขึ้นรา ถังขยะต้องไม่รั่วซึม มีฝาปิดมิดชิด ท่อหรือรางระบายน้ำ ไม่แตกร้าว ระบายน้ำได้ดี มีบ่อดักเศษอาหารและดักไขมันที่ใช้การได้ดี

“ทั้งนี้ ช่วงเปิดเทอม พ่อค้าแม่ค้าภายในโรงอาหารของโรงเรียนควรให้ความสำคัญเรื่องน้ำดื่ม และน้ำแข็ง โดยน้ำบรรจุขวดต้องได้รับมาตราฐานมีเครื่องหมาย อย. และเลขสารบบอาหาร น้ำแข็งต้องเป็นน้ำแข็งสำหรับบริโภค ใส่ในภาชนะที่มีฝาปิดมีอุปกรณ์สำหรับคีบหรือตักที่มีด้ามที่ยาวเพียงพอที่จะสามารถหยิบจับได้โดยไม่ทำให้เกิดการปนเปื้อน และในภาชนะใส่น้ำแข็งต้องไม่มีสิ่งของอื่นใดแช่ปนอยู่สำหรับอาหารที่ปรุงเสร็จแล้ว ให้เก็บในภาชนะที่สะอาด มีฝาปิดหรืออุปกรณ์สำหรับปกปิดอาหารที่สะอาด และปกปิดอาหารไว้ตลอดเวลา ยกเว้นเวลา    ที่จำหน่ายอาหาร วางสูงจากพื้นอย่างน้อย 60 เซนติเมตร นอกจากนั้น ผู้ปรุงและผู้เสิร์ฟต้องแต่งกายสะอาด     สวมเสื้อมีแขน สวมผ้ากันเปื้อนและหมวกหรือเนทคลุมผม ตัดเล็บให้สั้น ล้างมือให้สะอาด เมื่อเป็นแผลต้องปิดแผลให้มิดชิดด้วยพลาสเตอร์ที่กันน้ำได้” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด

***

ศูนย์สื่อสารสาธารณะ