กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติแสดงความกังวลต่อกรณีที่เยาวชนอาจสูญเสียโอกาส ด้วยเหตุแห่งการไร้สัญชาติ

วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๒ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในฐานะประธานคณะทำงานด้านสิทธิสถานะบุคคล กลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่าพื้นเมือง ได้แสดงความกังวลต่อกรณีที่นางสาวน้ำผึ้ง ปัญญา นักเรียนจากโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย และเป็นเยาวชนที่กำลังอยู่ในระหว่างการขอสัญชาติไทย ได้เข้าพบพร้อมครูผู้ฝึกสอนว่า ตนได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนของประเทศไทยไปเข้าร่วมแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ ในงาน Intel International Science and Engineering Fair 2019 ที่เมืองฟีนิกซ์ สหรัฐอเมริกา ระหว่างวันที่ ๑๒-๑๗ พฤษภาคม ๒๕๖๒ ร่วมกับคณะนักเรียนที่ได้รับเชิญ แต่ไม่ได้รับวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐอเมริกา แม้ว่าหน่วยราชการไทยที่เกี่ยวข้องได้ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ในการเดินทางไปร่วมแข่งขัน โดยการมีหนังสืออนุญาตให้เดินทางออกนอกพื้นที่ หนังสือรับรองว่าอยู่ในระหว่างกระบวนการขอสัญชาติ หนังสือรับรองการสนับสนุนค่าใช้จ่าย นางเตือนใจ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติเอง  ได้มีหนังสือรับรองว่า นางสาวน้ำผึ้ง เป็นบุคคลที่ได้รับการรับรองจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เข้าร่วมการแข่งขันในฐานะผู้แทนไทย และเป็นเยาวชนที่สมควรได้รับการสนับสนุนให้สามารถที่จะพัฒนาความสามารถอย่างเต็มศักยภาพตามปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน และเป็นที่น่าเสียใจอย่างยิ่งว่านางสาวน้ำผึ้ง ถูกปฏิเสธในการขอวีซ่าที่จะเดินทางเข้าประเทศสหรัฐอเมริกาถึง ๒ ครั้ง

นางเตือนใจ กล่าวว่า แม้จะตระหนักดีถึงความจำเป็นในการรักษาความมั่นคงของประเทศในการตรวจสอบ กลั่นกรองบุคคลที่จะเดินทางเข้า-ออกประเทศของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศและเคารพในอธิปไตยแห่งรัฐ อย่างไรก็ดี สิทธิขั้นพื้นฐานของบุคคล โดยเฉพาะในกรณีที่เป็นเด็กและเยาวชนที่ควรจะได้รับโดยไม่ถูกแบ่งแยกด้วยเหตุหรือสถานะหนึ่งใด หากการใช้สิทธินั้น มิได้กระทบต่อความมั่นคงอยู่รอดของประเทศ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดี ก็ควรได้นำมาประกอบการพิจารณาอย่างสมดุล

นางเตือนใจ กล่าวตอนท้ายว่า ขณะนี้ กำลังประสานงานกับกรมการปกครอง จังหวัดเชียงราย และสถานทูตสหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมกันช่วยเหลือนางสาวน้ำผึ้ง “ตนหวังเป็นอย่างยิ่งว่า กรณีของนางสาวน้ำผึ้งจะทำให้สังคมได้ตระหนักถึงสิทธิของบุคคลไร้สัญชาติ โดยเฉพาะผู้ที่เป็นเด็กและเยาวชน ที่พึงได้รับการดูแลให้สามารถอยู่รอด ได้รับการคุ้มครอง เติบโตและพัฒนาได้เต็มตามศักยภาพตามหลักการสิทธิมนุษยชนที่เป็นสากล”

 

เผยแพร่โดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ