กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับเครือข่าย ดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสุขภาพของลูกจ้าง พร้อมร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการสานพลังขับเคลื่อนปฏิบัติการ 4–3–2–1 ให้บริการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชื่อมโยงการดำเนินงานกับสถานประกอบการนำไปสู่การดูแลสุขภาพลูกจ้างองค์รวมภายใต้ “ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน”
วันนี้ (9 พฤษภาคม 2561)ที่โรงแรมรามา การ์เด้นส์ กรุงเทพฯ นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมผู้แทนจากกรมสุขภาพจิต กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม และหน่วยงานสักขีพยาน 2 หน่วยงาน ได้แก่ สภาองค์การนายจ้างแห่งประเทศไทย และสภาองค์การลูกจ้างแห่งประเทศไทย ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการสานพลังขับเคลื่อนปฏิบัติการ 4–3–2-1 เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสุขภาพของลูกจ้าง
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวว่า จากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2560 ประเทศไทยมีคนที่มีงานทำ 37.7 ล้านคน อยู่ในระบบประกันสังคมหรือเป็นแรงงานในระบบ 16.9 ล้านคน ข้อมูลสำนักงานกองทุนเงินทดแทน พบว่า อัตราการประสบอันตรายต่อลูกจ้าง 1 พันราย ในปี 2559 แบ่งเป็น 2 กรณี ได้แก่ 1)กรณีร้ายแรง พบว่าอัตราการประสบอันตราย เท่ากับ 3.04 ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 4.70 และ 2) รวมทุกกรณีความรุนแรง พบว่าอัตราการประสบอันตราย เท่ากับ 9.47 ลดลงจากปี 2558 ร้อยละ 7.61 ในขณะที่อัตราการประสบอันตรายลดลง กับพบว่าลูกจ้างมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพสูงขึ้น โดยข้อมูลจากสำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค พบว่าปี 2559 วัยแรงงานเจ็บป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ได้แก่ โรคหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 42.17 รองลงมาเป็นโรคหัวใจขาดเลือด โรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง ตามลำดับ
นอกจากนี้ ข้อมูลจากศูนย์ป้องกันการฆ่าตัวตายแห่งชาติ พบว่าวัยทำงานมีอัตราการฆ่าตัวตายสำเร็จสูงที่สุด 2,340 คน จากจำนวนผู้ฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,363 คน (ร้อยละ 53.63) และในช่วงอายุ 18-60 ปี มีโอกาสเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเวชถึงร้อยละ 30.8 หรือประมาณ 15.9 ล้านคน และในปัจจุบันคนวัยทำงานต้องรับหน้าที่ในการดูแลผู้พึ่งพิงมากขึ้น โดยเฉพาะเด็กและผู้สูงอายุ โดยในปี 2558 มีผู้ต้องพึ่งพิง 49 คน ต่อวัยแรงงาน 100 คน และในอีก 20 ปีข้างหน้า คาดว่าจะต้องมีผู้ต้องพึ่งพิงเพิ่มขึ้นเป็น 65 คนต่อวัยแรงงาน 100 คน หากคนในวัยทำงานเจ็บป่วยหรือมีปัญหาสุขภาพ จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามปกติแล้ว ผลกระทบนั้นจะไม่ได้จำกัดอยู่ในระดับบุคคลเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อครอบครัว สังคม และประเทศชาติอีกด้วย
การดำเนินงานเพื่อดูแลสุขภาพของลูกจ้าง จำเป็นต้องบูรณาการความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติ โดยเฉพาะใน 2 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงแรงงาน ร่วมดำเนินการขับเคลื่อนความร่วมมือด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสุขภาพของลูกจ้าง เพื่อเป็นการ “สานพลัง สร้างเสริม ป้องกันโรค ภัยสุขภาพ และความปลอดภัยของลูกจ้างองค์รวม” และในวันนี้ทุกหน่วยงานได้ร่วมประกาศเจตนารมณ์ในการสานพลังขับเคลื่อนปฏิบัติการ 4–3–2–1 ความหมาย คือ 4 องค์กร (กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน, สำนักงานประกันสังคม, กรมสุขภาพจิต, กรมควบคุมโรค) 3 ภารกิจ (ความปลอดภัยในการทำงาน, หลักประกันความมั่นคงและคุ้มครองลูกจ้าง, แรงงานมีสุขภาวะดี) 2 กระทรวงหลัก คือ กระทรวงแรงงานและกระทรวงสาธารณสุข และ 1 คือหนึ่งเดียวเพื่อแรงงานในประเทศไทย
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า การดำเนินงานครั้งนี้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดบริการ การให้คำปรึกษา การส่งเสริมสุขภาพลูกจ้างอย่างครอบคลุมและทั่วถึง ภายใต้ “ศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน” (Wellness Center) ปัจจุบันมีโรงพยาบาลนำร่อง 16 โรงพยาบาล โดยให้บริการทั้งเชิงรุกและเชิงรับ เชื่อมโยงกับสถานประกอบการนำไปสู่การดูแลสุขภาพลูกจ้างองค์รวมให้ครอบคลุมในทุกด้าน รวมทั้งแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างหน่วยบริการสาธารณสุขกับสถานประกอบการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวิเคราะห์ข้อมูลและนำไปใช้ประโยชน์ ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคและการบาดเจ็บของลูกจ้าง
ส่วนโรงพยาบาลนำร่อง 16 โรงพยาบาล ที่จัดตั้งศูนย์สุขภาพดีวัยทำงาน มีดังนี้ 1.สถาบันบำราศนราดูร จ.นนทบุรี 2.สถาบันราชประชาสมาสัย จ.สมุทรปราการ 3.โรงพยาบาลสมุทรสาคร 4.โรงพยาบาลอุตรดิตถ์ 5.โรงพยาบาลพุทธชินราช จ.พิษณุโลก 6.โรงพยาบาลหนองคาย 7.โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จ.นนทุบรี 8.โรงพยาบาลพุทธโสธร จ.ฉะเชิงเทรา 9.โรงพยาบาลทัพทัน จ.อุทัยธานี 10.โรงพยาบาลนภาลัย จ.สมุทรสงคราม 11.โรงพยาบาลบางเลน จ.นครปฐม 12.โรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ จ.สุราษฎร์ธานี 13.โรงพยาบาลชัยบุรี จ.สุราษฎร์ธานี 14.โรงพยาบาลบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา 15.โรงพยาบาลพนมสารคาม จ.ฉะเชิงเทรา และ 16.โรงพยาบาลแปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา ประชาชนสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422