วธ.เผยผลโพล ชาวพุทธส่วนใหญ่เห็นความสำคัญ “วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา” ร้อยละ ๕๙.๙๓ พร้อมใจร่วมกิจกรรมบุญใหญ่ทั่วประเทศ ตั้งใจทำบุญ ทำทาน ตักบาตรพระสงฆ์ ลด ละ เลิก อบายมุข เวียนเทียน และฟังพระธรรมเทศนา ผ่านรูปแบบออนไลน์และออนไซต์
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม เปิดเผยว่า กระทรวงวัฒนธรรม ร่วมกับ สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นเด็ก เยาวชน และประชาชน (โพล) ที่มีต่อวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา พุทธศักราช ๒๕๖๕ จากกลุ่มตัวอย่างทั่วประเทศ จากผู้ตอบแบบสอบถาม ๖,๓๙๗ คน จำแนกเป็นเพศหญิง ๓,๒๙๓ คน และเพศชาย ๓,๑๐๔ คน สรุปผลได้ ดังนี้
๑. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ ๖๘.๔๔ คิดว่า “วันอาสาฬหบูชา” (ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘) มีความสำคัญ คือ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง พระปฐมเทศนาเป็นครั้งแรกในโลก ชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร รองลงมา คือ ร้อยละ ๖๓.๖๑ เป็นวันที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนาเป็นครั้งแรก ร้อยละ ๕๕.๙๓ เป็นวันที่บังเกิดพระรัตนตรัยครบทั้ง ๓ คือ พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
๒. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ ๗๗.๗๙ คิดว่า “วันเข้าพรรษา” (แรม ๑ ค่ำ เดือน ๘) มีความสำคัญ คือ พระสงฆ์ต้องอธิษฐานอยู่จำพรรษาในวัดใด วัดหนึ่ง หรือ ณ ที่ใดที่มีพุทธานุญาตไว้ ไม่ไปค้างแรมที่อื่น ตลอดพรรษาสามเดือน รองลงมา คือ ร้อยละ ๖๓.๔๕ เป็นช่วงเวลาที่ให้พระสงฆ์ได้มีโอกาสศึกษาพระธรรมวินัยอย่างเต็มที่ ร้อยละ ๖๒.๕๓ เพื่อให้พุทธศาสนิกชนได้มีโอกาสบำเพ็ญกุศล ทำบุญตักบาตร หล่อเทียนพรรษา ถวายผ้าอาบน้ำฝน รักษาศีล เจริญภาวนา ฯลฯ
๓. เด็ก เยาวชน และประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ ๕๙.๙๓ สนใจเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา รองลงมา คือ ร้อยละ ๓๑.๕๑ ไม่แน่ใจแล้วแต่โอกาส และร้อยละ ๘.๕๕ ไม่สนใจเข้าร่วมงาน
ขณะที่ กิจกรรมเนื่องในวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่ประชาชนส่วนใหญ่สนใจเข้าร่วม ๕ อันดับแรก คือ
อันดับ ๑ ทำบุญ ทำทาน
อันดับ ๒ ตักบาตรพระสงฆ์
อันดับ ๓ ลด ละ เลิก อบายมุข
อันดับ ๔ เวียนเทียน
อันดับ ๕ ฟังพระธรรมเทศนา
และในฐานะที่ท่านเป็นพุทธศาสนิกชนท่านจะนำหลักธรรมข้อใดมายึดถือปฏิบัติและนำมาใช้ ในชีวิตประจำวัน ๕ อันดับแรก พบว่า
อันดับ ๑ กตัญญู
อันดับ ๒ ศีล ๕
อันดับ ๓ สติ
อันดับ ๔ อริยสัจ ๔
อันดับ ๕ ทาน ศีล ภาวนา
รวมถึงเมื่อสอบถามเกี่ยวกับปัจจุบันที่อยู่ในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ต้องการให้มีการจัดกิจกรรมในรูปแบบใด พบว่า อันดับ ๑ จัดกิจกรรมทั้งสองรูปแบบควบคู่กัน อันดับ ๒ จัดกิจกรรมในรูปแบบปกติหรือออนไซต์ และอันดับ ๓ จัดกิจกรรมในรูปแบบออนไลน์
นายอิทธิพล กล่าวต่อไปว่า ผลสำรวจวิธีการที่จะจูงใจหรือเชิญชวนให้เด็ก เยาวชน และประชาชน เข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันอาสาฬหบูชา และวันเข้าพรรษา มากขึ้น พบว่า
อันดับ ๑ พ่อแม่หรือญาติพี่น้อง พาลูกหลานเข้าร่วมกิจกรรม
อันดับ ๒ ผลิตและเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ และการส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรม ผ่านสื่อสังคมออนไลน์
อันดับ ๓ เปิดแหล่งเรียนรู้ เพื่อเสริมสร้างความเข้าใจวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ผ่านสื่อเทคโนโลยีออนไลน์
อันดับ ๔ หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาชน และภาคคณะสงฆ์ บูรณาการการทำงานร่วมกันในการขับเคลื่อนกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมในมิติทางศาสนา
นายอิทธิพล กล่าวด้วยว่า นอกจากนี้ ผลสำรวจกิจกรรมหรือประเพณีทางพระพุทธศาสนาที่ควรสืบสาน รักษาไว้ให้คงอยู่คู่สังคมไทยตลอดไป ได้แก่ ประเพณีและวัฒนธรรม ในวันสำคัญของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ประเพณีตักบาตรดอกไม้ เช่น วัดพระพุทธบาท จังหวัดสระบุรี ประเพณีแห่เทียนพรรษา หรือ เทียนจำนำพรรษา เป็นต้น
ทั้งนี้ กิจกรรมดังกล่าวเป็นไปตามภารกิจของวธ. ในการสืบสาน รักษา ต่อยอด ศิลปวัฒนธรรม และเป็นการยกระดับงานเทศกาล ประเพณี และมรดกภูมิปัญญาของท้องถิ่น สู่การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ช่วยสร้างรายได้สู่ชุมชน ประเทศ รวมไปถึงทำให้เป็นที่รู้จักในระดับประเทศและระดับนานาชาติ