สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ แนะนำประชาชนศึกษา “ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนัง” ให้ดีก่อนใช้ อย่าหลงเชื่อคำโฆษณาจากสื่อหรือคนดัง เพราะอาจเกิดอันตรายได้
นายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพผิวของตัวเอง แต่อาจขาดความเข้าใจรวมถึงศึกษาข้อมูลการใช้ผลิตภัณฑ์อย่างถ่องแท้ ทำให้หลงเชื่อคำโฆษณาจากสื่อ หรือคนดังที่มาแนะนำ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนังส่วนใหญ่เป็นเวชสำอาง ผู้ผลิตไม่จำเป็นต้องขออนุญาตขึ้นทะเบียน เพียงแต่ใช้วิธีจดแจ้ง ระบุสถานที่ผลิตและรายละเอียดที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด จากนั้นสามารถผลิตและวางขายได้ ซึ่งข้อมูลจาก อย.แจ้งว่ามีข้อมูลกว่า 90% ของผลิตภัณฑ์ที่จดแจ้งทางอินเทอร์เน็ต หรือ e-Submission
มีการผลิตที่ไม่ตรงกับที่แจ้งไว้ ดังนั้น การจะเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต้องศึกษาให้ดีอย่างถ่องแท้
แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การใช้ผลิตภัณฑ์ในการดูแลผิวพรรณที่ใช้ประจำอาจเกิดการแพ้ขึ้นได้ โดยขึ้นอยู่กับชนิดของสารที่เป็นสาเหตุกลไกในการเกิดผื่นและลักษณะพื้นฐานผิวของแต่ละบุคคล การแพ้ผลิตภัณฑ์หรือเวชสำอาง อาจเกิดผื่นผิวหนังอักเสบแบ่งเป็น การระคายเคืองอาจมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น แสบร้อน อาการยุบยิบบริเวณผิวหนังที่สัมผัสกับผลิตภัณฑ์หรือเครื่องสำอาง อาการคันเป็นต้น ถ้ามีอาการมากขึ้นอาจเป็นผิวหนังอักเสบซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ ทุกวัย การแพ้ส่วนมากจะมีอาการคันก่อนอาการอื่น ๆ ซึ่งอาจเกิดหลังจากใช้ผลิตภัณฑ์ระยะเวลาหนึ่งแล้ว อาจเป็นสัปดาห์ เป็นเดือน หรือเป็นปีหลังการใช้ อาการที่พบร่วมด้วยเช่น ตุ่มแดง ผื่นแดงในบริเวณที่ใช้ผลิตภัณฑ์ หากใช้ต่อไปอีกอาการจะมากขึ้น การเกิดผื่นลมพิษจะเกิดอาการในเวลาสั้นๆ หลังการใช้ จากนั้นมักมีอาการบวมแดงร่วมกับการคัน ระยะเวลาเกิดผื่นค่อนข้างรวดเร็ว ทั้งนี้สารที่เป็นสาเหตุจะเป็นสารที่มีคุณสมบัติในการก่อให้เกิดมลพิษจากการสัมผัส ดังนั้นการเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ดูแลผิวหนังถ้าสงสัยและมีอาการดังกล่าวเกิดขึ้นควรหยุดใช้ทันที และหากอาการไม่ดีขึ้นควรพบแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคผิวหนังเพื่อรับการตรวจวินิจฉัยและรักษาต่อไป