กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ย้ำ ไม่เริ่มอาหารบดหรืออาหารแข็งก่อน 6 เดือน เนื่องจากระบบย่อยอาหารของทารกยังไม่สามารถรับอาหารอื่นนอกจากนมแม่ได้ แนะนำให้ทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือน และหลัง 6 เดือน จึงให้กินนมแม่ควบคู่อาหารตามวัยจนถึง 2 ปี หรือนานกว่านั้น
นายแพทย์เอกชัย เพียรศรีวัชรา รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีโลกออนไลน์แชร์ข้อมูล ผู้ใช้ TikTok รายหนึ่ง เอาข้าวบดป้อนทารก อายุประมาณ 1 – 2 เดือน นั้น ถือเป็นการกระทำที่อันตรายต่อสุขภาพทารกอย่างยิ่ง และไม่ควรนำไปเป็นแบบอย่าง เนื่องจากระบบการย่อยอาหารของทารกยังไม่สมบูรณ์ อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติ เช่น ท้องอืด อาหารไม่ย่อย ท้องผูก ท้องเสีย แพ้อาหาร และเสี่ยงต่อการเสียชีวิตจากลำไส้อุดตัน
แต่เมื่ออายุ 6 เดือน ระบบย่อยและดูดซึมอาหารพัฒนาได้ค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว จึงให้เริ่มกินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่น ๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ปี
โดยการเริ่มต้น ควรให้อาหารในปริมาณน้อย ๆ และมีความเหลว เพื่อความง่ายในการฝึกกลืนและกระบวนการย่อย ช่วงเวลาในการให้อาหารเสริมชนิดใหม่ ๆ ที่เด็กยังไม่เคยกิน ควรเป็นเวลาเช้าหรือกลางวัน ที่ผู้เลี้ยงดูสามารถสังเกตเห็นท่าทีของเด็กหลังการได้รับอาหารได้ใกล้ชิด เมื่อเด็กกินได้ดีในวันแรก ๆ จึงเพิ่มปริมาณและความเข้มข้นของอาหารเสริมขึ้นช้า ๆ ให้เหมาะสมกับช่วงอายุ
“ทั้งนี้ การส่งเสริมเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ และให้อาหารตามวัยแก่ทารกและเด็กอย่างเหมาะสมนั้น สามารถปฏิบัติได้ ดังนี้
1) ให้นมแม่อย่างเดียวตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 เดือน ไม่ต้องให้อาหารอื่นแม้แต่น้ำ
2) เริ่มให้อาหารตามวัยที่มีสารอาหารครบ 5 หมู่ทุกวัน หลังอายุ 6 เดือน ควบคู่กับนมแม่
3) เพิ่มจำนวนมื้ออาหารตามวัยเมื่ออายุลูกเพิ่มขึ้น จนครบ 3 มื้อ เมื่ออายุ 10-12 เดือน
4) ค่อย ๆ เพิ่มปริมาณ และความหยาบ ของอาหารขึ้นตามอายุ
5) ให้อาหารรสธรรมชาติ หลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรส
6) อาหารสะอาดและปลอดภัย
7) ให้ดื่มน้ำสะอาด หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มรสหวาน และน้ำอัดลม
8) ฝึกวิธีดื่มกินให้สอดคล้องกับพัฒนาการตามวัย
9) เล่นกับลูกสร้างความผูกพัน หมั่นติดตามการเจริญเติบโตและพัฒนาการ” รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าว
***
กรมอนามัย / 8 กรกฎาคม 2565