กรมควบคุมโรค รณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เตรียมพร้อมการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุเต็มตัว เผยเป็นสาเหตุการตายอันดับสองในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ 4 ปีมีผู้สูงอายุบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มกว่า 2 แสนครั้ง และเสียชีวิตปีประมาณ 1,000 รายหรือเฉลี่ยวันละ 3 ราย ชี้ปัจจุบันกลุ่มดังกล่าวยังคงอยู่กับปัจจัยเสี่ยง แนะประเมิน ปรับเปลี่ยนและส่งเสริม เพื่อป้องกันการบาดเจ็บและความพิการที่อาจเกิดขึ้น
วันที่ 9 พฤษภาคม 2561 ที่สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร นายแพทย์อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาสุขภาพในผู้สูงอายุที่สำคัญ คือ การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้ม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไปประมาณ 11 ล้านคน (ร้อยละ 16.5) ซึ่งใกล้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบสมบูรณ์ (ร้อยละ 20) ในปี 2564 กรมควบคุมโรคได้เล็งเห็นความสำคัญของปัญหา จึงได้ดำเนินการกำหนดมาตรการการป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เพื่อประเมินความเสี่ยงและปรับแก้ไขปัจจัยเสี่ยงต่างๆ
การพลัดตกหกล้มเป็นปัญหาสำคัญที่พบบ่อย และเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับสองในกลุ่มการบาดเจ็บโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งในแต่ละปีมีผู้เสียชีวิตจากการพลัดตกหกล้มในทุกกลุ่มอายุปีละเกือบ 2,000 คน โดยครึ่งหนึ่งเป็นผู้สูงอายุ (เฉลี่ยวันละ 3 คน) และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่า 1 ใน 3 ของกลุ่มผู้สูงอายุจะมีการหกล้มทุกปี และร้อยละ 20 ของผู้สูงอายุที่พลัดตกหกล้มจะได้รับบาดเจ็บ โดยในปี พ.ศ. 2556 – 2559 มีจำนวนผู้สูงอายุที่บาดเจ็บแจ้งขอใช้บริการระบบการแพทย์ฉุกเฉินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เฉลี่ยกว่า 5 หมื่นครั้ง/ปี หรือกว่า 140 ครั้ง/วัน ทั้งนี้ การพลัดตกหกล้มยังส่งผลให้เกิดการบาดเจ็บ พิการเป็นผู้ป่วยติดเตียงและรุนแรงจนเสียชีวิตได้ สาเหตุของการพลัดตกหกล้มส่วนใหญ่มาจากการลื่น สะดุด หรือก้าวพลาดบนพื้นระดับเดียวกันมากถึงร้อยละ 62 และร้อยละ 6 เกิดจากการตกหรือล้มจากบันไดและขั้นบันไดรวมถึงความเสี่ยงที่ผู้สูงอายุเกือบครึ่งหนึ่งยังต้องเดินขึ้นลงบันได และเดินบนพื้นบ้านที่ลื่น
การบาดเจ็บจากการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ สามารถป้องกันได้โดย 1.การประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้ม 2.เลือกสวมใส่รองเท้าที่เหมาะสม พื้นมีดอกยาง ไม่ลื่น 3.ปรับสิ่งแวดล้อมให้ปลอดภัยกับการอยู่อาศัยของผู้สูงอายุโดยการติดราวจับในห้องน้ำ ภายในบ้านและบริเวณรอบบ้าน ซึ่งปัจจุบันมีเพียงร้อยละ 25 ที่มีการปรับเปลี่ยนบ้านหรือสิ่งแวดล้อมให้เกิดความปลอดภัย และ 4.ส่งเสริมการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความแข็งแรงของกล้าม เช่น การเดิน รำไม้พลอง รำมวยจีนรำไทเก๊ก เป็นต้น
นายแพทย์อัษฎางค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า การรณรงค์ป้องกันการพลัดตกหกล้มได้รับความร่วมมือจากหลายภาคส่วน ได้แก่ กรมกิจการผู้สูงอายุ กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักอนามัยผู้สูงอายุ กรมอนามัย สำนักอนามัย สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร ฝ่ายเวชศาสตร์พื้นฟู โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎจันทรเกษม ทีม Care solution manager จาก SCG สหพันธ์ชมรมผู้สูงอายุ จ.กรุงเทพมหานคร ชมรมผู้สูงอายุชุมชนวัดชมภูเวก นนทบุรี และประชาชนทั่วไปที่ร่วมมือในการสนับสนุนอย่างเต็มที่ ประชาชนและผู้สูงอายุสามารถประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มออนไลน์ได้ด้วยตนเองทาง www.thaincd.com หรือผ่านทาง Application แบบประเมินความเสี่ยงต่อการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ ทั้งระบบ android และ IOS หรือสามารถเข้ารับบริการประเมินความเสี่ยงที่สถานบริการสาธารณสุขใกล้บ้าน ทั้งนี้หากประชาชนมีข้อสงสัยสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422