“กกพ.” นำร่องศึกษา “ตลาดไฟฟ้าโฉมใหม่” ส่งเสริมการแข่งขัน

“กกพ.” เดินหน้าเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า ฝ่าด่าน “ดิสรัพทีฟ” เคาะประกาศเชิญชวนผู้เกี่ยวข้อง  ร่วมโครงการนำร่องศึกษาภายใต้ “ERC Sandbox” และพัฒนารูปแบบ ตลาด ซื้อ – ขายไฟฟ้ารูปแบบใหม่      แบบครบวงจร ปรับบทบาทงานกำกับฯ ให้กระชับ คล่องตัว ผ่านกลไกกำกับเชิงรุกหน้าตั้งแต่ต้นทาง แทน รูปแบบการกำกับฯ แบบตามหลังเดิมซึ่งล่าช้า และไม่ทันการณ์

นางสาวนฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)  ในฐานะ โฆษกกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. กำหนดให้มีจัดทำโครงการศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่ เช่น Peer-to-Peer Energy Trading ซึ่งเป็นหนึ่งในมาตรการสำคัญในการผลักดันการเพิ่มการแข่งขัน และเตรียมความพร้อมในการเปิดเสรีกิจการไฟฟ้า พร้อมกันนี้ได้ออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว

“ประกาศโครงการ ERC. Sandbox ที่ได้ประกาศไปเป็นไปตามนโยบายของ กกพ. ชุดปัจจุบันที่ต้องการผลักดัน กลไกการกำกับนโยบาย และการกำกับกิจการพลังงานเชิงรุกแบบนำหน้าเทคโนโลยี และนวัตกรรม  ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว แทนการกำกับกิจการพลังงานแบบตามหลัง ซึ่งทำให้ไม่ทันต่อเหตุการณ์และสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป และมุ่งสนับสนุนทิศทางการเพิ่มการแข่งขันที่เป็นธรรม รองรับทิศทางการส่งเสริมการแข่งขันของกิจการไฟฟ้าของประเทศ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน” นางสาวนฤภัทร กล่าว

ก่อนหน้านี้ กกพ. ได้ออกประกาศเชิญชวนเข้าร่วมโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (Energy Regulatory Commission Sandbox: ERC Sandbox) โดยกำหนดประเภทของกิจกรรมและนวัตกรรมที่ผู้สมัครสามารถนำมาทดสอบใน ERC Sandbox ต้องเป็นธุรกรรมที่อยู่ในขอบเขตการกำกับดูแลของ กกพ. จำนวน 5 ประเภทได้แก่

  1. ศึกษาโครงสร้างตลาดไฟฟ้ารูปแบบใหม่
  2. ศึกษาโครงสร้างอัตราค่าบริการรูปแบบใหม่
  3. ศึกษาเทคโนโลยีใหม่
  4. ศึกษาการจัดการและการปฏิบัติการระบบไฟฟ้ารูปแบบใหม่
  5. ศึกษารูปแบบกิจการธุรกิจใหม่ด้านพลังงาน

พร้อมกันนี้ ได้กำหนดผู้มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการฯ ต้องเป็นหน่วยงานของรัฐ หรือ นิติบุคคลที่จดทะเบียนในประเทศไทย หรือ สถาบันการศึกษา ที่ประสงค์จะเสนอผลิตภัณฑ์ที่เป็นนวัตกรรมทางด้านพลังงาน ซึ่งอาจเป็นนวัตกรรม  ที่ไม่เคยมีหรือไม่เหมือนกับผลิตภัณฑ์หรือบริการด้านพลังงานที่นำเสนออยู่แล้วในประเทศไทย หรือเป็นนวัตกรรม ที่นำเทคโนโลยีใหม่ มาใช้เพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการที่มีอยู่เดิม

นางสาวนฤภัทร กล่าวว่า กกพ. คาดว่า โครงการดังกล่าว นอกจากจะสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้องในงานกำกับ ดูแล ภาคพลังงานตั้งแต่ต้นทางแล้ว ยังจะเป็นการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการทดสอบก่อนการใช้งานจริง เสริมสร้างประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการให้บริการทางด้านพลังงาน สามารถเสริมสร้าง ยกระดับ และร่วมกันพัฒนากลไก การกำกับ ดูแลภาคพลังงานให้เข็มแข็งได้อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม กกพ. จะได้มีการแต่งตั้ง “คณะอนุกรรมการดำเนินการโครงการ ERC Sandbox” เป็น         ผู้พิจารณาความเหมาะสม และการพิจารณาคัดเลือกโครงการฯ ภายใต้หลักเกณฑ์ที่ได้วางไว้ โดยกำหนดกรอบเวลาดำเนินการประกอบด้วย

 

ขั้นตอนที่ กำหนดระยะเวลา กิจกรรม
1 3 พฤษภาคม – 28 มิถุนายน 2562 การยื่นข้อเสนอโครงการ
2 ภายในวันที่ 30 สิงหาคม 2562 ประกาศรายชื่อผู้ที่ผ่านการพิจารณาตามความพร้อม

 

ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวสาร หรือศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ เว๊บไซต์สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.). ที่ www.erc.or.th

เกี่ยวกับ กกพ.

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน องค์กรหลักในการกำกับดูแลกิจการพลังงานของชาติด้านกิจการไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติ เพื่อส่งเสริมให้มีบริการอย่างมั่นคง และมีเสถียรภาพ ในราคาที่เหมาะสม โดยยึดมั่นในความยุติธรรม คุณธรรม และความโปร่งใส ส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพึ่งพากันอย่างยั่งยืน ระหว่างกิจการพลังงาน สังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม มุ่งมั่นตั้งใจพัฒนารากฐานพลังงานของประเทศ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต

 

สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม

สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.)

โทรศัพท์ 0-2207-3599 / Call Center 1204

โทรสาร  0-2207-3501

www.erc.or.th

Facebook Page: สำนักงาน กกพ.