นายวิทยากร มณีเนตร รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากที่มีการตีพิมพ์บทความในประเทศเกาหลีใต้เกี่ยวกับหมอนยางพาราของไทยมีการแพร่กระจายสารเรดอนที่ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ข่าวดังกล่าวทำให้ยอดจำหน่ายหมอนยางพาราของไทยไปเกาหลีลดลงมาก และอาจกระทบถึงตลาดอื่นต่อไป กรมฯ ได้ตระหนักและเห็นถึงความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องหาวิธีการแก้ปัญหาดังกล่าว จึงได้จัดประชุมกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ การยางแห่งประเทศไทย สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ณ กระทรวงพาณิชย์
“ผู้ผลิตหมอนยางพาราที่ใส่แร่โมนาไซต์ในผลิตภัณฑ์จำเป็นต้องตระหนักรู้ถึงผลข้างเคียงด้านกัมมันตภาพรังสีที่ปล่อยจากแร่ธาตุ โดยกรมจะดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและข้อเท็จจริงของสารเรดอน หรือแร่ธาตุใดๆ ที่อาจปล่อยกัมมันตภาพรังสีไปยังสมาคม/ผู้ผลิตหมอนยางพารา/สินค้าที่สัมผัสผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงหน่วยงานกำกับดูแลมาตรฐานด้านรังสี ซึ่งแผนระยะสั้นจะต้องสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและผู้นำเข้าทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่วนในระยะยาวจะหามาตรการรองรับเกี่ยวกับมาตรฐานสินค้าด้านกัมมันตภาพรังสีเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ เนื่องจากปัจจุบันประเทศที่พัฒนาแล้วมีการเพิ่มมาตรการที่เข้มข้นมากขึ้นในด้านความปลอดภัยของผู้บริโภคหรือด้านอื่นๆ เช่น สิ่งแวดล้อม แรงงาน ประเทศไทยในฐานะผู้ส่งออกก็ให้ความสำคัญในการป้องกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาสินค้าไม่สามารถส่งออกไปได้หรือถูกตีกลับ” รองอธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศกล่าว
ในส่วนผู้แทนสำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) นายพิสิฏฐ์ สุนทราภัยได้กล่าวว่า “สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ (ปส.) เป็นหน่วยงานกำกับดูแลการใช้พลังงานนิวเคลียร์และรังสีให้เป็นไปตามกฎหมาย ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการนำสินแร่โมนาไซด์ซึ่งมีธาตุกัมมันตรังสีทอเรียมเป็นองค์ประกอบไปใส่ในที่นอนและหมอน ซึ่งทอเรียมจะสลายตัวเกิดธาตุกัมมันตรังสีเรดอน ปส.พิจารณาเห็นว่าการนำวัสดุกัมมันตรังสีไปเติมใส่ในสินค้าอุปโภคแม้จะปริมาณเล็กน้อยก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรกระทำ เว้นแต่จะได้รับการพิจารณาว่าสมเหตุสมผลและมีประโยชน์มากกว่าโทษที่เกิดขึ้น กรณีการเติมสินแร่โมนาไซด์ลงไปในหมอนถูกพิจารณาว่า ไม่สมเหตุสมผลเนื่องจากมิได้ทำให้คุณสมบัติจำเพาะของหมอนดีขึ้นจึงไม่เกิดประโยชน์แต่มีโทษคือเกิดความเสี่ยงที่ผู้ใช้จะได้รับอันตรายจากรังสีในระยะยาว อนึ่งสินแร่โมนาไซด์ในธรรมชาติได้รับการยกเว้นในการกำกับดูแลเนื่องจากมีปริมาณกัมมันตภาพรังสีต่ำกว่าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นช่องว่างในการควบคุม อย่างไรก็ตาม ปส.ได้เห็นถึงความสำคัญของสุขภาพและความปลอดภัยในระยะยาวของผู้บริโภคที่สัมผัสสินค้าที่มีวัสดุกัมมันตรังสีเป็นส่วนประกอบ พร้อมให้ความร่วมมือในการผลักดันให้เกิดกฎระเบียบและมาตรฐานการผลิตหมอนยางพาราที่ปราศจากวัสดุกัมมันตรังสีเพื่อให้เกิดความปลอดภัยต่อผู้บริโภคและไม่ให้มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในทุกภาคส่วนหากสามารถดำเนินการได้สำเร็จ
“สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ ให้ความมั่นใจว่าสถาบันฯ มีความพร้อมด้านห้อง Lab และบุคลากรที่จะอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการได้อย่างสะดวกรวดเร็ว ในการตรวจวัดและวิเคราะห์ธาตุกัมมันตรังสีเรดอน และออกใบรายงานผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ให้กับผู้ประกอบการ ชึ่งผลการตรวจวัดและวิเคราะห์ผลนั้นเป็นมาตรฐานระดับสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นก่อนการส่งออกไปยังต่างประเทศ อีกทั้งสถาบันสามารถให้บริการตรวจวัดและวิเคราะห์ ถึงบริษัทผู้ประกอบการได้โดยตรง เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเร่งด่วน”นายหาญณรงค์ ฉ่ำทรัพย์ รองผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติกล่าว
“เพื่อเป็นการคุ้มครองผู้บริโภค รวมถึงสร้างความมั่นใจให้กับสินค้าไทย ที่ประชุมเสนอให้ สมอ. พิจารณาการให้หมอน/ที่นอนยางพาราเป็นผลิตภัณฑ์บังคับ โดยกำหนดไม่ให้พบปริมาณสารรังสีในตัวผลิตภัณฑ์ (หรือข้อกำหนดที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ) รวมถึงทั้งการแสดงสัญลักษณ์เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ปราศจากอันตรายจากกัมมันตภาพรังสี” นายนรพงศ์ วรอาคม นักวิชาการมาตรฐาน กองกำหนดมาตรฐาน สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมกล่าว
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกกลุ่มสินค้าผลิตภัณฑ์ยางพาราพิกัดศุลกากร (HS Code) 94049090 ซึ่งประกอบด้วย สิ่งของเครื่องนอนและเครื่องตกแต่งที่คล้ายกันติดตั้งสปริงหรือยัดหรือติดภายในด้วยวัสดุใดก็ตาม หรือทำด้วยยางเซลลูลาร์หรือพลาสติก ปี 2561 (มค. –ธค.) มีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 65,431,840 เหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,098 ล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น +16.40%
********************************************************
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ