กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เผยสถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง6 ปี ลดลงต่อเนื่อง พร้อมชู 4 มาตรการ ลดการประสบอันตรายจากการทำงานอย่างยั่งยืน
นายอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) เปิดเผยว่า สถานการณ์ สถิติการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างกรณีร้ายแรง (เสียชีวิต ทุพพลภาพ สูญเสียอวัยวะบางส่วน และหยุดงานเกินสามวัน) ในช่วงเวลา 6 ปีที่ผ่านมามีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2555 มีอัตราการประสบอันตราย เท่ากับ 4.49 ต่อ 1,000 ราย ปี 2556 เท่ากับ 4.00 ต่อ 1,000 ราย ปี 2557 เท่ากับ 3.62 ต่อ 1,000 ราย ปี 2558 เท่ากับ 3.26 ต่อ 1,000 ราย ส่วนปี 2559 เท่ากับ 3.04 ต่อ 1,000 ราย และในปี 2560 เท่ากับ 2.88 ต่อ 1,000 ราย อย่างไรก็ตามการประสบอันตรายจากการทำงานของลูกจ้างนับเป็นความสูญเสียสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อตัวลูกจ้าง ครอบครัว สังคม เศรษฐกิจ และภาพลักษณ์ของประเทศ จึงต้องดำเนินการอย่างจริงจังโดยความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในการลดการประสบอันตรายจากการทำงานให้เป็นไปอย่างยั่งยืน
“สำหรับแนวทางในการลดการประสบอันตรายจากการทำงานนั้น กสร.ได้กำหนดมาตรการสำคัญไว้ 4 มาตรการ คือ 1. สร้างความรู้ ความเข้าใจเรื่องความปลอดภัยในการทำงานแก่นายจ้าง ลูกจ้าง 2.รณรงค์สร้างจิตสำนึกแก่นายจ้างและลูกจ้าง ให้ตระหนักถึงอันตรายจากการทำงานและร่วมมือกันในการป้องกันและแก้ไข 3. มาตรการในการบังคับใช้กฎหมาย โดยกระตุ้นเตือนให้นายจ้าง ลูกจ้างปฏิบัติตามกฎหมาย รวมทั้งตรวจสอบให้สถานประกอบกิจการมีการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดอย่างเคร่งครัด และ 4.สร้างเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชนเพื่อช่วยกระจายความรู้ ความเข้าใจ และช่วยในการเฝ้าระวังไม่ให้เกิดอันตรายจากการทำงาน” อธิบดีกสร. กล่าว