สธ.ชู “Bubble and Seal” ควบคุมโควิดในโรงงานสำเร็จ ขยายผล 2,861 แห่ง

ปลัดกระทรวงสาธารณสุขเปิดประชุมแลกเปลี่ยนเรียนรู้การควบคุมโควิดในโรงงาน พร้อมมอบรางวัลสถานประกอบการต้นแบบ “Bubble and Seal” ชูเป็นโมเดลป้องกันควบคุมโรคติดเชื้อในสถานประกอบกิจการ ขยายผล 2,861 แห่งทั่วประเทศ ทำให้อัตราการติดเชื้อในสถานประกอบกิจการลดลงตามลำดับ

วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ที่โรงแรม รามา การ์เด้นส์ นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานเปิดการประชุมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้บูรณาการเชิงนโยบายด้านการดำเนินงาน เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโควิด 19 ในสถานประกอบกิจการ “Thailand Move Forward to Better Living and Working” พร้อมปาฐกถาพิเศษ “The Next Chapter of COVID -19 in Thailand”

และมอบโล่รางวัลเครือข่ายที่ร่วมขับเคลื่อนดำเนินงานเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 ในสถานประกอบการ ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงแรงงานกระทรวงมหาดไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, รางวัลสถานประกอบกิจการแห่งแรกที่ดำเนินมาตรการ Bubble and Seal จำนวน 1 แห่ง และสถานประกอบกิจการต้นแบบการดำเนินงานตามมาตรการ Bubble and Seal ระดับดีเด่น 35 แห่ง โดยมี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค และเครือข่ายเข้าร่วมแสดงความยินดีกับสถานประกอบกิจการต้นแบบที่ได้รับโล่รางวัล

นพ.เกียรติภูมิกล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ช่วงต้นปี 2564 ในสถานประกอบกิจการ จ.สมุทรสาคร ทำให้โรงงานหลายแห่งปิดกิจการ สูญเสียมูลค่าถึง 3.5 แสนล้านบาท คิดเป็น 4% ของมูลค่าตลาด เกิดผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ แรงงาน และสังคม เช่น อัตราการว่างงาน การขาดรายได้ เกิดค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น แต่ความร่วมมือของภาคีเครือข่ายทั้งระดับประเทศและระดับพื้นที่ ทำให้สามารถควบคุมการระบาดของโควิดในโรงงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับการเข้าสู่ระยะหลังการระบาดใหญ่ หรือ Post-Pandemic ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2565 เตรียมความพร้อมสู่การเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบนั้น กระทรวงสาธารณสุขได้จัดทำแผนและมาตรการการบริหารจัดการ
โดยสร้างความสมดุลทั้งสุขภาพ สังคม และเศรษฐกิจ เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นสามารถกลับมาดำเนินชีวิตตามเดิมและอยู่ร่วมกับโควิดได้ (Living with COVID) ทำให้แรงงานมีงานทำ ขับเคลื่อนและฟื้นฟูเศรษฐกิจ
สร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุน เศรษฐกิจไทยขับเคลื่อนไปข้างหน้า

แต่สิ่งสิ่งสำคัญ คือ แม้จะผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น แต่ขอความร่วมมือทุกคนยังคงมาตรการ 2 U คือ Universal Prevention เช่น การเว้นระยะห่าง และล้างมือบ่อยๆ ควรใส่หน้ากากอนามัยเมื่ออยู่ในสถานที่แออัด หากพบมีอาการน่าสงสัยจึงตรวจหาเชื้อ และ Universal Vaccination การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น เพื่อยกระดับภูมิคุ้มกัน เพื่อความปลอดภัยกับการใช้ชีวิตและการทำงาน

ด้าน นพ.โอภาส กล่าวว่า การระบาดของโรคโควิด 19 ในกลุ่มสถานประกอบกิจการระยะแรกเมื่อต้นปี 2564 เพียง 3 วัน พบผู้ติดเชื้อในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเกือบ 700 ราย พบผู้ติดเชื้อสะสม 11,343 ราย โดยร้อยละ 83.3 เป็นผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการ ต่อมาประเทศไทยเริ่มพบการระบาดในสถานประกอบกิจการอย่างต่อเนื่อง ในช่วงมิถุนายน 2564 ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อในสถานประกอบกิจการถึง 881 แห่ง ใน 62 จังหวัด และมีพนักงานติดเชื้อถึง 61,919 คน

กระทรวงสาธารณสุขจึงได้มอบหมายกรมควบคุมโรค ประยุกต์มาตรการ bubble and seal โมเดลสมุทรสาคร เป็น bubble and seal แบบป้องกันและควบคุมโรค ร่วมกับ กรมสุขภาพจิต กรมอนามัย โดยเน้นการป้องกันและการควบคุมการระบาดอย่างรวดเร็ว สถานประกอบกิจการ ไม่ต้องปิดกิจการ สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

“ปัจจุบันแนวโน้มของการติดเชื้อในสถานประกอบกิจการลดลงอย่างชัดเจน แม้จะเกิดการระบาดในระลอกสายพันธุ์โอมิครอนช่วงต้นปี 2565 ก็ไม่พบคลัสเตอร์ใหญ่หรือการระบาดในวงกว้าง และไม่พบการรายงานผู้ติดเชื้อในโรงงานตั้งแต่ต้นเดือนมิถุนายน 2565 โดยรวมแล้วการดำเนินมาตรการ bubble and seal สามารถขยายผลออกไปได้ถึง 2,861 แห่งทั่วประเทศ เกิดต้นแบบสถานประกอบกิจการ จำนวน 87 แห่ง โดยแบ่งเป็นระดับดีเด่น 35 แห่ง และระดับดีมาก 52 แห่ง สำหรับการจัดประชุมในครั้งนี้ เป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบการดำเนินงานที่ดี นำไปสู่การบูรณาการเครือข่ายเพื่อการดำเนินงาน เฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรคโควิด 19 ในสถานประกอบกิจการ อันเป็นการเตรียมความพร้อมเพื่อ “ Living and Working with COVID -19 ” นพ.โอภาสกล่าว

******************************************** 30 มิถุนายน 2565