แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล ลงนามความร่วมมือ กับ นางฐิตาภา สมิตินนท์ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ปฏิบัติการแทนผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เพื่อดำเนินโครงการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (2P Safety Tech) ในการสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัย และพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยจากปัญหาจริงในสถานพยาบาลมาผสมผสานแก้ไขด้วยเทคโนโลยี
โดยได้รับเกียรติจากนางบรรจง จำปา รองผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล และคุณศันสนีย์ ฮวบสมบูรณ์ ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี สวทช. (BIC) ร่วมเป็นพยานในการลงนาม ซึ่งจัดขึ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2565 ณ โรงแรม มิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
แพทย์หญิงปิยวรรณ ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้อำนวยการสถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล กล่าวว่า การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เกิดเทคโนโลยี นวัตกรรมเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุขตามเป้าหมายความปลอดภัย Patient and Personnel Safety Goals (SIMPLE)2 และเพื่อขยายผลนวัตกรรมที่สามารถป้องกันอุบัติการณ์ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นให้กับสถานพยาบาลที่สนใจที่มีความสอดคล้องกับบริบทและสามารถใช้ได้จริง ตลอดจการค้นหารูปแบบ วิธีการจัดทำโครงการความร่วมมือที่ทั้งสองฝ่ายตกลงร่วมกันภายใต้โครงการตามบันทึกข้อตกลงนี้ เช่น โครงการวิจัยนวัตกรรมด้านความปลอดภัย หรือกลไกการถ่ายทอดด้านเทคโนโลยีในการพัฒนานวัตกรรมใหม่และการขยายผล และเพื่อจัดหาแหล่งทุนสนับสนุน หรือการสร้างรายได้จากการบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจากนวัตกรรม
ซึ่ง “2P Safety Tech”หรือโครงการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย ของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข เป็นโครงการที่ ที่สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล (องค์การมหาชน) หรือ สรพ. และศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ได้ร่วมมือกันตั้งแต่ปี 2562 – จนถึงปัจจุบัน
ทั้งนี้ตลอดระยะเวลา 3 ปี มีผลงานนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นไม่น้อยกว่า 132 ผลงาน จากแนวคิด Human Factor Engineering เพื่อป้องกันความเสี่ยงตามแนวทาง SIMPLE ซึ่งที่ผ่านมา สรพ.ได้เปิดรับสมัครทีมโรงพยาบาลที่สนใจจากโครงการ 2P Safety Hospital และคัดเลือกมาเข้าแคมป์ อบรมพัฒนานวัตกรรมเพื่อความปลอดภัย ส่งเสริมให้เกิดเทคโนโลยีนวัตกรรมด้านความปลอดภัยของผู้ป่วยและบุคลากรสาธารณสุข (Patient and Personnel Safety Goal (SIMPLE) โดยการจับคู่โรงพยาบาล กับนวัตกร Start Up ของ สวทช. เพื่อร่วมกันการพัฒนาเทคโนโลยีนวัตกรรม โดยมีรูปแบบการเคลื่อนงาน ภายใต้ 4C คือ Care : ด้านการดูแลรักษา , Change : นวัตกรรมด้านการเปลี่ยนแปลง, Collaboration : สร้างการมีส่วนร่วม , Call for Action : การออกแบบนวัตกรรมที่กระตุ้นความสนใจ
ซึ่งในปี 2564 มี ผลงานนวัตกรรมที่สามารถจดลิขสิทธิ์ทะเบียนการค้า 1 เทคโนโลยี คือ ผลงานจากโรงพยาบาลระยอง “Patient Tracking” ในรูปแบบ “Smart Wristband” ติดอาร์เอฟไอดี บุคลากรทางการแพทย์สามารถใช้สมาร์ทโฟนสแกนที่ริสแบนด์เพื่อดูข้อมูลผู้ป่วย การรักษาและการทำหัตถการรวมถึงการจ่ายยา การบันทึกข้อมูลการรักษาของตนทุกครั้ง ประโยชน์ที่เกิดขึ้นคือการช่วยลดความผิดพลาดในการทำงาน เสริมความมั่นใจให้กับบุคลากรทางการแพทย์และคนไข้ว่ามีการระบุตัวตนที่แม่นยำ อีกทั้งยังอำนวยความสะดวกในการย้อนดูประวัติการรักษาแบบเรียลไทม์ ด้วย