สช.จัดเวิร์คช็อปเตรียมพัฒนาประเด็นเข้าสู่การพิจารณาระเบียบวาระใน “สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 3” หลากเครือข่ายเข้าร่วมระดมประเด็นปัญหา-สะท้อนความต้องการในพื้นที่ หาจุดเชื่อมโยงพร้อมกำหนดพื้นที่เป้าหมาย Sandbox เพื่อขับเคลื่อนร่วมกัน ด้าน กทม. ยืนยันแนวทางผู้ว่าฯ ชัชชาติ มุ่งเน้นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในการกำหนดนโยบาย
เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการพัฒนาประเด็นสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นกระบวนการมีส่วนร่วมระบุประเด็นปัญหา และสะท้อนความต้องการจากหน่วยงานและพื้นที่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) เพื่อหาประเด็นร่วมในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ที่จะถูกพิจารณาคัดเลือกเพื่อบรรจุเป็นระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 3 พ.ศ.2565
นางภารนี สวัสดิรักษ์ ประธานคณะอนุกรรมการวิชาการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า กิจกรรมในครั้งนี้เป็นการนำข้อเสนอต่อการพัฒนานโยบายสาธารณะพื้นที่ กทม. รวม 62 ประเด็น ที่ได้มีการระดมจากภาคีเครือข่ายภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมไปแล้วก่อนหน้านี้ มาประมวลและแลกเปลี่ยนเพื่อหาจุดเชื่อมร้อยในการทำงาน ทั้งในเชิงประเด็นปัญหา และในเชิงของพื้นที่เป้าหมาย เพื่อที่จะผลักดันเข้าสู่ระเบียบวาระสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ และสามารถกำหนดพื้นที่ Sandbox เพื่อขับเคลื่อนนำร่องการทำงานด้านนั้นๆ ได้
นางภารนี กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอและประเด็นปัญหาที่ทางเครือข่ายต่างสะท้อนออกมานั้น มีทั้งเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นปัญหาขยะ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ปัญหาน้ำเสีย น้ำท่วม หรือประเด็นที่มีความเกี่ยวข้องกับผู้คนฐานราก เช่น หาบเร่แผงลอย กลุ่มคนไร้บ้าน เรื่องของความปลอดภัย กลุ่มเปราะบาง เด็กและเยาวชน ตลอดจนระบบโครงสร้างพื้นฐาน ถนน ปัญหารถติด เป็นต้น โดยได้มีการแบ่งหมวดหมู่และตั้งวงพูดคุยตามกลุ่มประเด็นด้านต่างๆ เพื่อมองหาความเกาะเกี่ยวยึดโยงในแต่ละประเด็น
“วันนี้ถือเป็นการคิกออฟเพื่อหาประเด็นที่จะนำเข้าสู่สมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งที่ 3 ซึ่งครั้งนี้เราตั้งใจไม่อยากให้เป็นการพิจารณาชุดข้อเสนอที่สำเร็จรูปมาจากฝั่งเดียว บวกกับสถานการณ์ที่เริ่มผ่อนคลายและทำให้เราสามารถกลับมาจัดเวิร์คช็อปร่วมกันได้ จึงมุ่งเน้นให้เกิดกระบวนการวิชาการที่มีชีวิต ให้ทุกคนและทุกพื้นที่ได้มีส่วนร่วมกันคิดตั้งแต่ต้น โดยไม่ทิ้งประเด็นใดประเด็นหนึ่ง ซึ่งเราจะมีการจัดเวิร์คช็อปกันอีก 4 ครั้งภายในเดือน ก.ค.นี้ ก่อนที่จะได้เป็นประเด็นที่เตรียมนำเข้าสู่ระเบียบวาระ” นางภารนี กล่าว
พญ.ดวงพร ปิณจีเสคิกุล รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม. ปฏิบัติหน้าที่แทนผู้ว่าราชการ กทม. กล่าวว่า การให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมต่อการกำหนดนโยบาย นับเป็นสิ่งที่ นายชัชชาติ สิทธิพันธ์ ผู้ว่าราชการ กทม. ให้ความสำคัญ ด้วยตัวอย่างแนวนโยบายมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาแพลตฟอร์มรับฟังความคิดเห็นของประชาชน ที่ให้คนกรุงเทพฯ ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางนโยบายของเมือง และได้นโยบายที่ตอบสนองต่อความต้องการอย่างแท้จริง
ขณะเดียวกันยังมีนโยบายอื่นๆ เช่น สภาเมืองคนรุ่นใหม่ ที่จะสร้างส่วนร่วมและมีพื้นที่ให้เด็กและเยาวชนได้แสดงออก เสนอความคิดเห็นและประเด็นปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมของผู้ค้าแผงลอย ภาคประชาชน และเอกชนในพื้นที่ เข้ามาร่วมกำหนดรูปแบบการค้าขายหาบเร่ที่สอดคล้องกับพื้นที่ รวมถึงการเปิดโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการประเมินผู้อำนวยการเขตและผู้ว่าราชการ กทม. ตลอดจนการเปิดเผยข้อมูลศักยภาพสูงของ กทม. ให้ทุกคนสามารถเข้าถึง นำไปตรวจสอบ พัฒนา และต่อยอดได้จริง
“ส่วนนโยบายการมีส่วนร่วมในมิติของสุขภาพดี ยังจะส่งเสริมกลไกกระจายอำนาจให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาสุขภาพ สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องสาธารณสุขและสุขอนามัยในระดับเส้นเลือดฝอย โดยสามารถรวมกลุ่มกันเสนอโครงการผ่านกองทุนหลักประกันสุขภาพกรุงเทพฯ ซึ่งนโยบายสาธารณะหลายอย่าง เช่น หากมีการทำธรรมนูญสุขภาพขึ้นในพื้นที่เขต ก็สามารถนำความต้องการของคนในพื้นที่มากำหนดเป็นนโยบายเชิงพื้นที่ และของบผ่านกองทุนฯ ได้” พญ.ดวงพร กล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า เวทีสมัชชาสุขภาพทั้งในระดับชาติ หรือไม่ว่าจะระดับใดก็ตาม อย่างน้อยที่สุดคือต้องการให้เป็นพื้นที่กลางของการนำประเด็นสาธารณะทั้งหลาย ที่ทุกคนหรือทุกหน่วยงานจะมีโอกาสในการหยิบประเด็นที่ตนเองให้ความสนใจหรือเห็นว่าเป็นปัญหา สะท้อนออกมาเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายได้ ไม่ใช่การถูกกำหนดออกมาจากฝ่ายบริหาร หรือจากส่วนกลางเพียงอย่างเดียว
นพ.ประทีป กล่าวว่า อีกจุดสำคัญของกระบวนการสมัชชาฯ คือการหาเจ้าภาพร่วม และขยายความเป็นเจ้าของประเด็นให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้น รวมถึงสร้างพันธสัญญาของการที่จะขับเคลื่อนร่วมกัน โดยในส่วนของสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ครั้งนี้ เป็นความโชคดีที่ กทม. มีทีมบริหารที่ทำให้หลายภาคส่วนเกิดความตื่นตัว และมีความหวังกับการพัฒนาภายในพื้นที่ ซึ่งเชื่อว่าการนำเครือข่ายเจ้าของประเด็นต่างๆ มาขับเคลื่อนร่วมกันกับระบบทางการ ทั้งนโยบายของผู้ว่าฯ และทีมข้าราชการประจำ จะทำปัญหาหลายอย่างได้รับการคลี่คลายลงไปได้ ในขณะเดียวกันก็ช่วยสร้างความเข้มแข็งเพื่อนำไปสู่การทำงานที่ซับซ้อนมากขึ้น
“ปีนี้เป็นจังหวะที่เรามีการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของ กทม. ซึ่งทุกคนมีความหวังและลุกขึ้นมามีส่วนร่วมกันมากขึ้น อย่างเครือข่ายปลุกกรุงเทพ ที่เป็นการรวมตัวของกว่า 84 องค์กร มาสะท้อนภาพฝันและยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าฯ ซึ่งทางผู้ว่าฯ กทม. ก็ได้ยืนยันไว้ชัดเจนว่าที่จะเดินหน้าการทำนโยบายต่างๆ กว่า 216 ข้อ ร่วมกับมติที่เป็นข้อเสนอของประชาชน ให้สามารถเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง เช่นเดียวกับการที่จะเข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการสมัชชาสุขภาพกรุงเทพฯ ในครั้งนี้” นพ.ประทีป กล่าว