วธ.ร่วมเผยแพร่ประวัติและผลงานสำคัญ “พระยาศรีสุนทรโวหาร” เนื่องในโอกาสยูเนสโก ประกาศยกย่องเชิดชู เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2565
นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม กล่าวว่า เนื่องในโอกาสที่องค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก) ได้มีมติประกาศยกย่องพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เป็นบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม ในการประชุมสมัยสามัญขององค์การยูเนสโก ครั้งที่ 41 เนื่องในวาระครบรอบ 200 ปี ชาตกาลในปี พ.ศ. 2565 (200th anniversary of the birth of Phraya Srisundaravohara (Noi Acharyankura) (1822 – 1891)
ดังนั้นวธ. โดยสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงร่วมดำเนินการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ประวัติและผลงานสำคัญของพระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เพื่อประชาสัมพันธ์เผยแพร่ความรู้แก่เยาวชนและประชาชน ให้รู้จักและยกย่องเชิดชูบุคคลด้านภาษาไทยของประเทศไทยร่วมกัน ซึ่งกระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) ได้รับความร่วมมือจากจังหวัดฉะเชิงเทราในด้านข้อมูลและเนื้อหา
ประกอบด้วย ประวัติ และผลงานสำคัญต่าง ๆ ได้แก่ ผลงานนิพนธ์ประเภทต่าง ๆ อาทิ ประเภทแบบเรียนภาษาไทย ประเภทสุภาษิต ประเภทวรรณคดี ประเภทคำประกาศพระราชพิธี ประเภทคำฉันท์ ประเภทลิลิต บทเสภาเรื่องอาบูหะซัน ตอนที่ 7 ประเภทหนังสือศาสนา เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี หนังสือ “คำฤษฎี” และประเภทโคลงเบ็ดเตล็ดและโคลงเฉลิมพระเกียรติเจ้านาย เป็นต้น
นอกจากนี้ยังมีผลงานนิพนธ์ด้านวรรณศิลป์และการอนุรักษ์วัฒนธรรมของไทย เช่น หนังสือคำนมัสการคุณานุคุณ เป็นต้น โดยช่องทางของ วธ. ในการร่วมเผยแพร่ประวัติและผลงานของพระยาศรีสุนทรโวหาร ครั้งนี้ อาทิ Facebook line Youtube กระทรวงวัฒนธรรม รวมทั้งสามารถรับชมในรูปแบบ E-book ผ่านเว็บไซต์ต่าง ๆ ได้แก่ เว็บไซต์ www.noi-acharyankura.info/. เว็บไซต์ www.digital.net.go.th และ เว็บไซต์ www.finearts.go.th
นอกจากนี้ ทางจังหวัดฉะเชิงเทรา ขอเชิญเยี่ยมชมประวัติและผลงาน ในหัวข้อ “ปราชญ์ภาษาไทยของแผ่นดิน” ทุกวันพุธ – อาทิตย์ ณ หอเชิดชูเกียรติ พิพิธภัณฑ์เมืองฉะเชิงเทรา รวมไปถึงกำหนดจัดกิจกรรมและประชาสัมพันธ์การเฉลิมฉลอง วันที่ 5 ก.ค. 2565 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 200 ปี พระยาศรีสุนทรโวหาร ณ บริเวณอนุสาวรีย์พระยาศรีสุนทรโวหาร (น้อย อาจารยางกูร) เพื่อประกาศเกียรติคุณยกย่องบุคคลสำคัญของโลก ด้านการศึกษา และวัฒนธรรม ทั้งในระดับประเทศและต่างประเทศต่อไปด้วย
ทั้งนี้ พระยาศรีสุนทรโวหาร ญาณปรีชามาตย์ บรมนารถนิตยภักดี พิริยพาหะ เดิมชื่อน้อย เป็นชาวจังหวัดฉะเชิงเทรา เกิดเมื่อวันศุกร์ที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2365 ที่บ้านคลองโสธร ต่อมาได้รับพระราชทานนามสกุลจากพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ในลำดับที่ 1457 ว่า “อาจารยางกูร” เมื่อ พ.ศ. 2457 ท่านถึงแก่อนิจกรรมเมื่อวันที่ 16 ตุลาคม พ.ศ. 2434 รวมสิริอายุ 69 ปี ท่านเป็นนักปราชญ์ทางภาษาและหนังสือ เป็นเจ้ากรมอาลักษณ์ เป็นองคมนตรีที่ปรึกษาราชการแผ่นดิน เป็น “อาจารย์ใหญ่” คนแรกของโรงเรียนหลวง และครูสอนหนังสือไทย เป็นพระอาจารย์ถวายอักษรพระบรมวงศานุวงศ์ในราชวงศ์จักรีหลายพระองค์
โดยเฉพาะอย่างยิ่งสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชเจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฎราชกุมาร สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้า และพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์เจ้าอีกหลายพระองค์ ได้นิพนธ์วรรณกรรมทั้งร้อยแก้ว โคลง ฉันท์ กาพย์กลอน ลิลิต ซึ่งล้ำค่าไว้เป็นจำนวนมาก
โดยเฉพาะตำราเกี่ยวกับภาษาไทย ที่สำคัญก็คือ แบบเรียนหลวง 6 เล่ม ได้แก่ “มูลบทบรรพกิจ วาหนิติ์นิกร อักษรประโยคสังโยคพิธาน ไวพจน์พิจารณ์ พิศาลการันต์” และหนังสือแบบเรียนภาษาไทยอื่น ๆ อีก 12 เล่ม มีผลงานด้านหนังสือประเภท สุภาษิต วรรณคดี คำฉันท์ ลิลิต บทเสภา หนังสือด้านศาสนา และผลงานเบ็ดเตล็ด รวม 15 เรื่อง เป็นผู้ประพันธ์เนื้อร้องเพลงสรรเสริญพระบารมี เนื้อเพลงแรก ผลงานของท่านเป็นมรดกตกทอดมาถึงอนุชนรุ่นหลัง แม้จะมีการปรับเปลี่ยนบทเรียน แต่ล้วนมีพื้นฐาน มาจากหนังสือเรียน 18 เล่มนี้ ท่านได้รับยกย่องว่าเป็น “ศาลฎีกาในเรื่องหนังสือไทย” อีกด้วย