กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมพิธีลงนาม บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรคของประเทศไทย กับ 4 องค์กร ได้แก่ กองบัญชาการกองทัพไทย, สมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, กรุงเทพมหานคร และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่กองบัญชาการกองทัพไทย เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค มอบหมายให้ นายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นตัวแทนร่วมพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรคของประเทศไทย กับ 4 องค์กร โดยมี พลเอกเฉลิมพล ศรีสวัสดิ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด กองบัญชาการกองทัพไทย นายแพทย์สุขุม กาญจนพิมาย นายกสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แพทย์หญิงวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร และนายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้ลงนาม
พร้อมด้วย ศาสตราจารย์เกียรติยศนายแพทย์สงคราม ทรัพย์เจริญ ประธานกรรมการกลางสมาคมปราบวัณโรคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ พลเรือเอกทรงวุฒิ บุญอินทร์ รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด แพทย์หญิงผลิน กมลวัทน์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค แพทย์หญิงณัฐินี อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการ กองควบคุมโรคติดต่อ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนางกนกพร รอดรุ่งเรือง ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริหารชื่อเสียงองค์กรและกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ร่วมเป็นสักขีพยาน ในการลงนามบันทึกข้อตกลงในฉบับนี้
บันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการป้องกันและควบคุมวัณโรคของประเทศไทย ในฉบับนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อค้นหา ส่งเสริม สนับสนุน ดูแลรักษา ควบคุม และป้องกันวัณโรคตลอดจนรับมือและแก้ไขสถานการณ์ด้านภัยคุกคามด้านสุขภาพกำลังพลของกองบัญชาการกองทัพไทย พนักงานบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ประชาชนทั่วไป และประชาชนกลุ่มเสี่ยง ซึ่งรวมถึงผู้สัมผัสใกล้ชิดและผู้สัมผัสร่วมบ้าน โดยกรมควบคุมโรค จะสนับสนุน ส่งเสริม ดำเนินการ ในการจัดรถเอกซเรย์เคลื่อนที่สำหรับการตรวจคัดกรอง ค้นหาผู้ป่วย และจัดสรรระบบการดูแลผู้ป่วย การจัดหายา การตรวจเสมหะ
ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานที่ร่วมลงนาม ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการป้องกัน และควบคุมปัญหาวัณโรคของประเทศ พร้อมที่จะบูรณาการระหว่างหน่วยงานปฏิบัติหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามข้อตกลงความร่วมมือเพื่อนำไปสู่ “การยุติปัญหาวัณโรคของประเทศไทย” อย่างมีประสิทธิภาพ สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติ 20 ปี (ด้านสาธารณสุข) อันนำไปสู่การดูแลสุขภาพประชาชนไทยอย่างมีคุณภาพต่อไป
********************************
ข้อมูล : กองวัณโรค/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 24 มิถุนายน 2565