ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งติดตามการดำเนินงานตามระบบที่วางไว้ 4 ด้าน คือการส่งเสริมการใช้ทางการแพทย์ ให้ความรู้แก่ประชาชน, การเฝ้าระวัง ป้องกัน, การดูแลรักษาพยาบาล และการกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนด เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของผู้บริโภค
วันที่ 24 มิถุนายน 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการติดตามผลการขับเคลื่อนการดำเนินงานตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษประเภท 5 พ.ศ. 2565 ครั้งที่ 2/2565 (การปลดล็อคกัญชา กัญชง เพื่อในการดูแลสุขภาพ สร้างเศรษฐกิจ และไม่ใช้ทางที่ไม่เหมาะสม) โดยมีหม่อมหลวงสมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และคณะ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมประชุม
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวว่า ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่องระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ.2565 วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 มีผลบังคับใช้วันที่ 9 มิถุนายน 2565 เป็นต้นไป ทำให้สามารถนำส่วนต่างๆ ของพืชกัญชา กัญชง พัฒนาและแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องสำอางและสมุนไพรได้ และสามารถปลูกพืชกัญชา กัญชง เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพได้ง่าย ช่วยลดรายจ่ายด้านการรักษาและเพิ่มทางเลือกในการดูแลสุขภาพ วันนี้จึงได้ประชุมคณะกรรมการเพื่อวางแผน ติดตามพัฒนา โดยเน้น 4 ด้าน ได้แก่
1)ส่งเสริมการใช้ทางการแพทย์และให้ความรู้แก่ประชาชน
2)การเฝ้าระวัง ป้องกันการใช้ในทางที่ผิด
3)ดูแลรักษาพยาบาล และบำบัดรักษา
4)การกำกับติดตามผลการขับเคลื่อนตามมาตรการที่กำหนด
ทั้งนี้ เพื่อให้มีการใช้กัญชาอย่างปลอดภัย มีประสิทธิภาพและเกิดผลลัพธ์ตามเป้าหมายที่กำหนด ได้ประโยชน์ ไม่ใช้เกินขนาดและไม่ใช้ในทางที่ผิด เช่น การเสพเพื่อความบันเทิง
“เราได้มีการประชุมเพื่อแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับกัญชาอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ครั้งนี้เป็นการติดตามและแลกเปลี่ยนผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของแต่ละหน่วยงาน พร้อมกับวางระบบบูรณาการ ลดความซ้ำซ้อนในการดำเนินงาน โดยเน้นการทำงานเชิงรุก วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นได้ล่วงหน้า และวางแผนป้องกัน โดยใช้ทั้งกฏหมายและสร้างความเข้าใจ รวมทั้งได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ให้เร่งบูรณาการข้อมูลร่วมกัน ให้ความรู้ประชาชน ป้องกันการเข้าใจผิด ป้องกันทั้งในระบบสาธารณสุข ระบบชุมชนและในผลิตภัณฑ์ที่จะนำมาใช้ เพราะทุกอย่างมีผลดีและผลเสียต้องมีระบบควบคุมที่มีประสิทธิภาพ” นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าว
นายแพทย์เกียรติภูมิกล่าวต่อว่า อย่างไรก็ตามขณะนี้หน่วยงานต่างๆ ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น อาทิ กรมการแพทย์ จัดทำแนวทางการรักษาพิษจากกัญชา, จัดตั้งคลินิกกัญชาทางการแพทย์ และปรับระบบติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากกัญชา, กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ออกประกาศให้กัญชาเป็นสมุนไพรควบคุม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ พัฒนาชุดทดสอบกัญชา, การตรวจวิเคราะห์กัญชาในพลาสมา และจะเปิดให้บริการตรวจวิเคราะห์หาสาร THC, 11-OH-THC และ CBD ที่ศูนย์พิษวิทยา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุขและศูนย์วิทยาศาสตรการแพทย์ทั้ง 15 ศูนย์ทั่วประเทศ ในวันที่ 1 กรกฎาคมนี้
กรมสุขภาพจิต ออกมาตรการควบคุมดูแลการใช้กัญชาในโรงพยาบาลจิตเวช และให้คำปรึกษาในการใช้กัญชาทางการแพทย์อย่างปลอดภัยและถูกวิธี ผ่านสายด่วน “ปรึกษากัญ 1667” กรมอนามัย ออกกฎหมายและคำแนะนำที่เกี่ยวกับการควบคุมกัญชา กัญชง ในสถานที่จำหน่ายอาหาร เช่น ประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ การควบคุมคุณภาพและการจัดการ สุขลักษณะของการจำหน่ายอาหารประเภทปรุงสำเร็จ ในสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ. …., คำแนะนำคณะกรรมการสาธารณสุข เรื่อง กำหนดหัวข้อวิชา การใช้ใบกัญชาในการทำประกอบ หรือปรุงอาหารที่ปลอดภัย ในการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ. ….
และประกาศกรมอนามัย เรื่อง “การควบคุมการใช้กัญชาในการจำหน่ายสินค้าในที่หรือทางสาธารณะ” และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ติดตามการเข้าใช้งานแอพ “ปลูกกัญ” ซึ่งข้อมูลวันที่ 22 มิถุนายน 2565 มีผู้ลงทะเบียนถึง 911,719 คน และออกใบรับจดแจ้งกัญชา จำนวน 883,484 ใบ รวมถึงอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนประกอบของกัญชา กัญชง และสารสกัด CBD ระหว่างวันที่ 6-12 มิถุนายน 2565 อนุญาตแล้วทั้งหมด 1,233 รายการ
******************************************** 24 มิถุนายน 2565