สสว.+สวทช. พลิกแนวคิด ชู “นำวัสดุเหลือใช้..มาทำกำไรอย่างงาม”

นายสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดงานสัมมนา SME หัวข้อ พลิกความคิด…วัสดุเหลือใช้ สู่กำไรที่มองไม่เห็น ภายใต้กิจกรรมงานพัฒนาองค์ความรู้สำหรับ SME (Knowledge Center) ว่า สสว. พร้อมสนับสนุนแนวทางการพัฒนาองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ SME เพราะเชื่อว่า ทุนมนุษย์เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งดีๆ และมีนวัตกรรมได้ในทุกมิติของกิจกรรม ซึ่งกิจกรรมงานสัมมนา ภายใต้โครงการ SME KNOWLEDGE CENTER จะเป็นหนึ่งในผู้ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME ก้าวไปสู่อีกระดับหนึ่งได้ ซึ่ง สสว. ก็พร้อมช่วยส่งเสริม พัฒนา และช่วยเหลือผู้ประกอบการให้รู้ลึก รู้จริงในทุกเรื่องที่อยากรู้ไปพร้อมกัน

“สสว.คาดหวังว่า คลังข้อมูลองค์ความรู้สำหรับผู้ประกอบการ หรือ SME Knowledge Center นี้ จะเป็นศูนย์รวมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือให้คำปรึกษาด้านธุรกิจตามที่ผู้ประกอบการมีความต้องการ โดยคาดว่า จะมีผู้เข้ารับการพัฒนาองค์ความรู้ตลอดทั้งปี 2562 ไม่น้อยกว่า 4,000 ราย ซึ่งคาดว่าในปีแรกนี้ จำนวนการเข้าใช้บริการคลังข้อมูลองค์ความรู้ ไม่ต่ำกกว่า 200,000 ครั้ง”

 

ผอ.สสว. เผยอีกว่า โครงการนี้ มีสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นหน่วยร่วมดำเนินงาน ซึ่ง สวทช. ก็มีแนวคิดในการศึกษาด้านนวัตกรรมการเพิ่มมูลค่าและการบริหารจัดการของเสียและวัสดุเหลือทิ้งในอุตสาหกรรมการผลิต ช่วยก่อให้เกิดรายได้จากการเพิ่มมูลค่ากากของเสีย นับว่า เป็นการพลิกจากปัญหาสู่โอกาสอย่างแท้จริง และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของภาคอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นและ ถือว่า เป็นการตอบโจทย์การดำเนินธุรกิจตามหลัก Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก

นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เปิดเผยว่า  สวทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีบทบาทในการผลิตผลงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำไปประยุกต์ใช้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้เห็นถึงปัญหาและความต้องการในเรื่องการบริหารจัดการและการเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือทิ้งจากภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม จึงเกิดแนวความคิดต้องการนำเทคโนโลยีและงานวิจัยและพัฒนาไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็นการนำวัสดุเหลือทิ้งไปใช้ประโยชน์ในรูปพลังงาน หรือ แปลงเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ภายใต้แนวคิด “พลิกความคิด” ทั้งนี้เพื่อสร้างความสามารถในการแข่งขันและความยั่งยืนในท้ายที่สุด ซึ่งจะเป็นแนวทางหนึ่งของรัฐบาลที่มีแนวคิดในการเร่งรัดการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยโมเดลเศรษฐกิจใหม่ที่เรียกว่า “ BCG ” โดย B ย่อมาจาก Bioeconomy หรือ เศรษฐกิจชีวภาพ C ย่อมาจาก Circular economy ก็คือ เศรษฐกิจหมุนเวียน และ G ย่อ มาจาก Green economy นั่นก็คือ เศรษฐกิจสีเขียว ซึ่งรัฐบาลมุ่งมั่นจะนำแนวคิดเศรษฐกิจ ทั้ง 3 มาหลอมรวมเพื่อใช้เป็นแนวทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และตอบรับการดำเนินธุรกิจตามหลัก Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน

รศ.ดร.สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าศูนย์สร้างสรรค์การออกแบบ เพื่อสิ่งแวดล้อมและหัวหน้าคณะที่ปรึกษาศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กล่าวถึงเรื่อง Upcycling : “การเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้วยดีไซน์สร้างสรรค์” และการนำเสนอ “นวัตกรรมผลงานวิจัย สวทช. การเพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร” NSTDA Innovative Research from Industrial and Agricultural Waste โดยกล่าวเพิ่มเติมว่า การปรับเอาวัสดุเหลือใช้มาสร้างสรรค์ ด้วยการแปลงวัสดุเหลือใช้หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่สามารถใช้งานได้ตามหน้าที่เดิมให้เป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่มีคุณภาพ เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้สูงขึ้น ช่วยชุบชีวิตสิ่งของเหลือใช้ที่ดูไร้ค่าให้กลับมามีราคาและมีความหมาย หรือการนำเศษวัสดุมาสร้างสรรค์ สร้างไอเดียต่อยอดสินค้าจนเปี่ยมด้วยคุณค่ามากขึ้น

ดร.ธัญญวัฒน์ เกษมสุวรรณ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรม (Global Innovation Incubator) บริษัท ไทยยูเนี่ยน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผลิตผลพลอยได้ของอาหารทะเลผ่านนวัตกรรม Creating Seafood Co-Product Value Through Innovation เนื่องจากประเทศไทย มีศักยภาพที่จะผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรมในด้านอุตสาหกรรมอาหารโลก ด้วยจุดแข็งด้านวัตถุดิบที่หลากหลาย รวมถึงผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการนำเอาเทคโนโลยีมาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับอาหารทะเลผ่านนวัตกรรม