“ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์” รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนศึกษาวิจัยโรคติดเชื้อไวรัส

“ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์” รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี 2565 ซึ่งเป็นผู้อุทิศตนศึกษาวิจัยโรคติดเชื้อไวรัส การระบาดของโรคอุบัติใหม่ในไทย นำไปสู่การวินิจฉัยโรคที่เป็นประโยชน์กับวงการแพทย์และสาธารณสุข

นพ.สถาพร วงษ์เจริญ ประธานกรรมการมูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า มูลนิธิกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้คัดเลือกผู้สร้างหรือริเริ่มงาน และอุทิศตนเพื่อประโยชน์ต่อวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์ โดยมีผลงานที่มีประโยชน์ต่อการแพทย์และการสาธารณสุขของประเทศไทยอันเป็นที่ประจักษ์ และเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เป็นแบบอย่างให้แก่บุคคลในวงการวิทยาศาสตร์การแพทย์และบุคคลทั่วไป เพื่อรับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ

และผู้ที่ได้รับรางวัลนักวิทยาศาสตร์การแพทย์เกียรติยศ ประจำปี พ.ศ.2565 คือ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ ที่ปรึกษาศูนย์วิจัยพัฒนานวัตกรรม คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งมีผลงานเด่นและเป็นผู้อุทิศตนในการศึกษาวิจัย ด้านไวรัสวิทยา โดยเฉพาะโรคอุบัติใหม่ เกิดเป็นองค์ความรู้ และแนวทางของห้องปฏิบัติการ อันเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัย วางแผนการรักษา และการควบคุมโรค อันเป็นคุณูปการต่อประเทศ ปัจจุบันท่านได้ทำงานวิชาการในฐานะผู้ทรงคุณวุฒิกลุ่มโรคอุบัติใหม่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และอยู่ในคณะทำงานหลายชุดภายใต้กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในฐานะผู้เชี่ยวชาญทางด้านไวรัสวิทยา

ท่านยังศึกษาไวรัสก่อโรค มือ เท้า ปาก มาเป็นเวลานานกว่า 20 ปี พบว่าเชื้อใน genotypes และ subgenotypes ต่าง ๆ จะแพร่ระบาดอยู่ในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ก่อนจะถูกแทนที่ด้วย genotypes อื่น ในปี พ.ศ. 2549 ท่านศึกษาพบเชื้อ enterovirus 71 genotype C4b เป็นครั้งแรก และยังพบว่าเชื้อ enterovirus 71 ในปัจจุบันเป็นไวรัสลูกผสม (recombinant virus) ทั้งสิ้น

นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวเสริมว่า ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์ เป็นผู้มีประสบการณ์ในการปฏิบัติงานกับเชื้อไวรัสหลายชนิด ท่านผลักดันให้มีการสร้างห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อรองรับงานบริการ และการศึกษาวิจัยเชื้อก่อโรคระดับ 3 ของมหาวิทยาลัยมหดิล เป็นผลสำเร็จเป็นมหาวิทยาลัยแรก ในระยะแรกห้องปฏิบัติการนี้ถูกใช้ในการเพาะเลี้ยงเชื้อเอชไอวีสำหรับโครงการวิจัย ต่อมาถูกนำไปใช้วินิจฉัยโรคไข้หวัดนก ซึ่งนำไปสู่การรายงานพบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 ในประเทศไทยในเดือนมกราคม พ.ศ.2546

ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์พบผู้ป่วยเช่นกัน จากการพัฒนาห้องปฏิบัติการชีวนิรภัย ระดับ 3 ของศิริราชเพื่อวินิจฉัยไข้หวัดนก ทำให้ห้องปฏิบัติการของศิริราชเป็นห้องปฏิบัติการคู่ขนานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ในการวินิจฉัยผู้ป่วยโรคไข้หวัดนกอีกหลายราย และท่านยังวิจัยร่วมกับหน่วยงานต่างๆ เช่น คณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กรมอุทยานสัตว์ป่าและพรรณพืช กรมควบคุมโรค กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และพบข้อมูลที่เป็นประโยชน์ เช่น ลำดับพันธุกรรมและสายพันธุ์ของเชื้อไข้หวัดนก H5N1 ของไทย

นอกจากนี้ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.พิไลพันธ์และทีมวิจัย ยังเป็นผู้วินิจฉัยผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ 2009 รายแรกของประเทศ และได้รับการยืนยันโดยกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ รวมทั้งยังได้ทำการแยกเชื้อไวรัสเมอร์ส (MERS coronavirus), ไวรัสซิกา (Zika virus) และ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-coronavirus-2) นำไปสู่การสร้างองค์ความรู้ใหม่สำหรับประเทศ

*********** 23 มิถุนายน 2565