กรมอนามัย เตือน ผู้สูงอายุดื่มน้ำน้อยช่วงหน้าร้อน เสี่ยงภาวะขาดน้ำ

กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เตือนผู้สูงอายุที่ดื่มน้ำน้อยในช่วงหน้าร้อนอุณหภูมิสูงขึ้น อาจเกิด ภาวะขาดน้ำ แนะผู้ดูแลกระตุ้นให้ดื่มน้ำอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องรอกระหาย

นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า ภาวะขาดน้ำในผู้สูงอายุมักพบได้ง่าย เนื่องจากมวลกล้ามเนื้อที่ลดลงทำให้น้ำในร่างกายผู้สูงอายุลดลงด้วย การตอบสนองต่อความกระหายน้ำ ก็ลดลง ทำให้ไม่รู้สึกอยากดื่มน้ำ ร่างกายจึงไม่ได้น้ำชดเชย ประกอบกับความเสื่อมของร่างกาย เช่น กลั้นปัสสาวะไม่ได้ หกล้มง่าย ข้อเข่าเสื่อม ซึมเศร้า สมองเสื่อม ทำให้ไม่อยากดื่มน้ำ นอกจากนี้ ผู้สูงอายุยังพบปัญหาโรคเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจและหลอดเลือดสมอง ซึ่งต้องได้รับยาขับปัสสาวะทำให้น้ำในร่างกายน้อยลง รวมทั้งปัญหาตาทำให้มองเห็นไม่ชัดเจน จึงเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาน้ำดื่ม และที่สำคัญคือผู้สูงอายุมือสั่นหยิบจับหรือกำไม่ได้ ทำให้ไม่สามารถดื่มน้ำได้ด้วยตนเอง เป็นผลให้ได้รับน้ำไม่เพียงพอ ซึ่งส่งผลเสียหรืออันตรายต่อสุขภาพอาจนำมาสู่ภาวะขาดน้ำได้

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหน้าร้อนที่อุณหภูมิสูงขึ้นจนบางครั้งใกล้เคียงหรือมากกว่าอุณหภูมิในร่างกายทำให้ร่างกายสูญเสียน้ำเป็นอย่างมาก ผู้ดูแลจึงควรจัดหาน้ำสะอาดไว้ให้ดื่มอย่างสม่ำเสมอโดยไม่ต้องรอกระหายหรือจนปัสสาวะเป็นสีเหลืองอ่อน ควรจัดหาแก้วที่มีหูจับหรือสะดวกในการใช้ หรือให้ดูดจากหลอด โดยวางแก้วน้ำไว้บนโต๊ะข้างเตียง ไม่ควรให้ผู้สูงอายุดื่มชา กาแฟ แอลกอฮอล์ และเครื่องดื่มที่มีปริมาณน้ำตาลสูง เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดน้ำ” นายแพทย์อรรถพล กล่าว

รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวในตอนท้ายว่า การป้องกันความเสี่ยงของผู้สูงอายุจากความร้อนทำได้โดยให้ผู้สูงอายุอยู่ในบ้านพัก อาคาร หรือสถานที่ที่มีเครื่องปรับอากาศ  หรือหากไม่มีเครื่องปรับอากาศแนะนำใช้พัดลม เปิดให้ห่างจากตัว อย่าหันพัดลมเป่าเข้าตัวโดยตรง ให้เปิดพัดลมแบบส่าย เปิดหน้าต่าง เพื่อระบายอากาศที่ร้อนหากอากาศร้อนจัดควรหลีกเลี่ยงการออกนอกบ้าน แต่หากจำเป็นควรสวมหมวก เสื้อแขนยาวมีสีอ่อน กางเกง ขายาว หลวม มีน้ำหนักเบาระบายความร้อนได้ดี กางร่มเพื่อป้องกันแสงแดดและพกน้ำดื่มติดตัวตลอดเวลา ทั้งนี้ ผู้ดูแลควรสังเกตอาการผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับความร้อนหากพบอาการ เช่น ตะคริว ผดผื่น คลื่นไส้ ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหรือพาไปพบแพทย์ หรือติดต่อสายด่วน 1669 ทันที