ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยเชิงรุกสู่สาธารณชนและภาคส่วนต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมประกันภัย สำนักงาน คปภ. จึงได้จัดโครงการส่งเสริมความรู้ด้านการประกันภัยเชิงรุกสู่สาธารณชนทั่วประเทศ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ โดยมอบหมายให้สำนักงาน คปภ. ภาค 1-9 ดำเนินงานขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว สำหรับปีนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 1 (เชียงใหม่) ได้ประเดิมโครงการนี้เป็นภาคแรก ภายใต้หัวข้อ“ม่วนใจ เมื่อประกันภัยผ่านธนาคาร” เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2562 ณ โรงแรมเชียงใหม่แกรนด์วิว อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อส่งเสริมความรู้ด้านกฎ กติกา ต่างๆ ให้กับพนักงานธนาคารที่มีใบอนุญาตนายหน้าประกันภัย ที่เข้าร่วมอบรมกว่า 300 คน โดยได้รับเกียรติจาก นายคมสัน สุวรรณอัมพา รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวต้อนรับและเยี่ยมชมบูธนิทรรศการด้านการประกันภัยด้วย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. เป็นประธานเปิดการอบรมและปาฐกถาพิเศษ ภายใต้หัวข้อ “ม่วนใจ เมื่อประกันภัยผ่านธนาคาร” โดยกล่าวในตอนหนึ่งว่า เพื่อยกระดับความรู้ด้านกฎ กติกาต่างๆ ให้แก่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นพนักงานธนาคารผู้มีหน้าที่เสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัย ได้รับรู้และเข้าใจการบังคับใช้ประกาศคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการออก การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยของบริษัทประกันชีวิต (วินาศภัย) และการปฏิบัติหน้าที่ของตัวแทนประกันชีวิต (วินาศภัย) นายหน้าประกันชีวิต (วินาศภัย) และธนาคาร พ.ศ. 2561 โดยมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2562 เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการกำกับดูแลและส่งเสริมให้กระบวนการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน ทั้งนี้พบว่าการเสนอขายประกันผ่านช่องทางธนาคารพาณิชย์ มีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมธนาคารไทย เพื่อกำหนดแนวทางการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านธนาคาร ซึ่งประกอบด้วย การจัดให้มีหน่วยงานและบุคคลที่ทำหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการ การจัดให้มีกฎ ระเบียบ คู่มือ หรือแนวปฏิบัติ ในการเสนอขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยพร้อมบทลงโทษ กรณีพบการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติ รวมทั้งธนาคารต้องจัดให้มีระบบการกำกับตรวจสอบติดตามสำหรับผู้ทำหน้าที่เสนอขายปฏิบัติตามกฎ ระเบียบหรือแนวปฏิบัติที่กำหนดไว้ พร้อมทั้งออกข้อแนะนำประชาชน 12 ข้อ ในการซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร ซึ่งได้มีการเผยแพร่และขอความร่วมมือให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ติดประกาศเผยแพร่ในทุกสำนักงานสาขา ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ เรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ ได้มีการเพิ่มประสิทธิภาพการคุ้มครองผู้บริโภคด้านประกันภัย อาทิ การออกกรมธรรม์ประกันภัย การเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัย การชดใช้ค่าสินไหมทดแทนและการจัดการเรื่องร้องเรียนโดยมุ่งเน้นการสร้างวัฒนธรรมการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมในกิจกรรมดังกล่าว เพื่อให้มีระบบการบริหารจัดการเกี่ยวกับพฤติกรรมทางการตลาดที่มีคุณภาพ มีความโปร่งใส เสริมสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้เอาประกันภัยด้วย และเพื่อเป็นการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภค นอกจากธนาคารพาณิชย์ จะต้องปฏิบัติตามกติกาของ สำนักงาน คปภ. เกี่ยวกับการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยแล้วยังกำหนดให้ผู้เสนอขายต้องเป็นพนักงานธนาคารที่มีใบอนุญาตเป็นนายหน้าประกันภัย กรมธรรม์ที่เสนอขายได้ต้องเป็นกรมธรรม์ที่ได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนและจะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ประกันภัยแบบง่ายๆ ที่ไม่ซับซ้อน ประชาชนสามารถเข้าใจได้ และธนาคารพาณิชย์ ยังจะต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ทั่วไป ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ใช้กับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยทุกช่องทาง รวมทั้งต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้ สำหรับการเสนอขายกรมธรรม์ประกันภัยผ่านทางธนาคาร ซึ่งบัญญัติไว้เป็นการเฉพาะอีกด้วย สำนักงาน คปภ. ได้กำหนดให้บริษัทต้องขอคำยืนยันจากลูกค้า (confirmation call) ภายในเจ็ดวันนับแต่วันที่บริษัทส่งกรมธรรม์ประกันภัยให้แก่ผู้เอาประกันภัย หากผู้เอาประกันภัยพบว่าไม่ตรงกับความต้องการ หรือไม่ตรงกับการเสนอขาย ผู้เอาประกันภัยมีสิทธิในการขอยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยได้ โดยได้รับคืนเบี้ยประกันภัยเต็มจำนวนไม่หักค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น
อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นความท้าทายของธนาคารพาณิชย์ก็คือ การรักษาความปลอดภัยทางข้อมูลในสังคม ไร้พรมแดนที่ต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านไซเบอร์ (Cyber Risk) อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (Cyber Security) และการประกันภัยไซเบอร์ จึงมีแนวโน้มที่จะได้รับความนิยมมากขึ้นจากภัยคุกคามด้านไซเบอร์ที่ได้ทวีความรุนแรงและมีความซับซ้อนมากขึ้นทุกวัน การพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยบริหารความเสี่ยงด้านไซเบอร์ ตลอดจนกระบวนการบูรณาการและความร่วมมือกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการคุ้มครองผู้บริโภคและทำให้ผู้บริโภคเกิดความเชื่อมั่นต่อการขายผลิตภัณฑ์ประกันภัยผ่านช่องทางธนาคาร จึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการ รวมถึงเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันปัญหาและบริหารความเสี่ยงในเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ
“ดังนั้น การจัดอบรมภายใต้หัวข้อ “ม่วนใจ เมื่อประกันภัยผ่านธนาคาร” ครั้งนี้ จึงเป็นแรงขับเคลื่อนเพื่อยกระดับการจำหน่ายกรมธรรม์ผ่านช่องทาง Bancassurance ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน เพื่อสร้างภาพลักษณ์ของธุรกิจประกันภัยให้เป็นที่ยอมรับและลดปัญหาเรื่องร้องเรียนผ่านธนาคาร รวมทั้งยกระดับพฤติกรรมทางตลาดของระบบประกันภัยให้มีการปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น” เลขาธิการ คปภ.กล่าวในตอนท้ายของการเปิดอบรม
ต่อมาเมื่อวันที่ 29 เมษายน 2562 เพื่อแสดงความห่วงใยต่อสุขภาพของประชาชนในพื้นที่บริเวณจังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งมีปัญหาฝุ่นละอองที่สูงเกินมาตรฐาน เลขาธิการ คปภ. ได้ไปเป็นประธานการจัดกิจกรรมเพื่อสังคม (CSR) ร่วมกับภาคอุตสาหกรรมประกันภัย นำโดย มร.ทานิโมโต ชิน กรรมการผู้จัดการ และนายสมโพชน์ เกียรติไกรวัล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทโตเกียวมารีนประกันชีวิต (ประเทศไทย) เพื่อมอบหน้ากากกันฝุ่นละออง PM 2.5 มาตรฐาน N95 ให้แก่โรงพยาบาลสวนดอก โรงพยาบาลลานนา และประชาชนทั่วไปในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้ยังได้ส่งมอบหน้ากากกันฝุ่นละอองจำนวนหนึ่งให้กับผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงใหม่ สำนักงาน คปภ. จังหวัดเชียงราย และสำนักงาน คปภ. จังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อนำไปมอบต่อให้กับประชาชนและเจ้าหน้าที่ที่ทำหน้าที่ดับไฟป่าในพื้นที่ของแต่ละจังหวัดอีกด้วย