รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานประชุมคณะกรรมการบริหาร UNAIDS ครั้งที่ 50 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายนนี้ เรียกร้องสมาชิกร่วมยุติปัญหาโรคเอดส์ในปี 2573 เน้นแก้ปัญหาในกลุ่มเยาวชน จัดระบบหลักประกันสุขภาพให้ครอบคลุม และลดการตีตรา พร้อมผลักดันการดำเนินงานร่วมกันใน 3 ประเด็น เสนอจัดประชุมครั้งที่ 51 ที่ไทยธันวาคมนี้
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการบริหารของโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) โดยในปีนี้มีการประชุม 2 ครั้ง คือ การประชุมครั้งที่ 50 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 21-24 มิถุนายน 2565 ที่นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส และการประชุมครั้งที่ 51 ระหว่างวันที่ 13-15 ธันวาคม 2565
ทั้งนี้ ตนในฐานะรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจึงนำทีมผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขไทยเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวที่สมาพันธรัฐสวิส และได้เรียกร้องในที่ประชุมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการเพื่อการยุติปัญหาโรคเอดส์ ภายในปี พ.ศ. 2573 โดยย้ำการดำเนินการสำคัญ 3 เรื่อง คือ
1.การแก้ไขปัญหาในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการรับมือกับโรคเอดส์ และจะเป็นผู้นำในอนาคต โดยในช่วงการอภิปราย ในวันที่ 24 มิถุนายน จะมีการหารือเกี่ยวกับการศึกษาและการเสริมพลัง (empower) ให้แก่กลุ่มนี้
2.การจัดระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้ครอบคลุมการบริการป้องกันรักษาโรคเอดส์ เพื่อให้ผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อสามารถเข้าถึงบริการได้โดยไม่มีภาระทางการเงิน ซึ่งจะนำไปสู่การเข้าถึงเป้าหมาย 95-95-95 คือ คนที่ติดเชื้อต้องรู้สถานะการติดเชื้อ 95% คนรู้สถานะการติดเชื้อต้องได้รับการรักษา 95% และคนได้รับการรักษาต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ 95%
3.การลดการตีตราและการเลือกปฏิบัติ (Stigma and discrimination) ในทุกรูปแบบทั้งในสถานพยาบาล สถานศึกษา ที่ทำงาน และในชุมชน รวมทั้งมีกฎหมายและนโยบายที่ปกป้องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
นายอนุทินกล่าวต่อว่า ประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในระหว่างที่ดำรงตำแหน่งประธาน UNAIDS PCB คือ
1.การศึกษาดูงานการดำเนินงานด้านเอชไอวี/เอดส์ในประเทศไทย
2.ประเด็น Thematic Segment มุ่งเน้นไปยังกลุ่มเยาวชน เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องเอชไอวีอย่างครอบคลุม เช่น การลดการตีตรา การเลือกปฏิบัติ ข้อปฏิบัติในการป้องกัน การดูแลรักษา และอยู่ร่วมกับผู้ป่วยโรคเอดส์ เพศศึกษาทั้งในโรงเรียนและนอกโรงเรียน
3.การขับเคลื่อนประเด็นที่ประเทศไทยต้องการผลักดันในการเป็นประธาน เช่น การลดการตีตราและเลือกปฏิบัติ, การขับเคลื่อนโดยชุมชน (community-led action)
นอกจากนี้ ตนจะย้ำความจำนงขอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมครั้งที่ 51 ในช่วงเดือนธันวาคมนี้ที่ประเทศไทยด้วย
สำหรับ UNAIDS ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นกลไกความร่วมมือในการป้องกันควบคุมและแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ โดยมี Programme Coordinating Board (PCB) เป็นคณะกรรมการบริหาร ซึ่งมีองค์ประกอบจาก ผู้แทนภูมิภาคต่างๆ 22 ประเทศ UN Cosponsoring Agencies 11 องค์กร ได้แก่ UNHCR, UNICEF, WFP, UNDP, UNFPA, UNODC, UN WOMEN, ILO, UNESCO, WHO, the World Bank และภาคประชาสังคมที่มีบทบาทภารกิจเกี่ยวข้องกับการป้องกันควบคุมการแพร่ระบาดของเอชไอวี/เอดส์ จำนวน 5 องค์กร
******************************************** 22 มิถุนายน 2565