แนะวิธีปราบหนอนหัวดำมะพร้าว

เฝ้าระวังสวนมะพร้าวในช่วงที่มีอากาศร้อน และมีฝนตกบางพื้นที่ กรมวิชาการเกษตร แนะเกษตรกรผู้ปลูกมะพร้าวเฝ้าระวังการเข้าทำลายของหนอนหัวดำมะพร้าว สามารถพบได้ทั้งในระยะที่ต้นมะพร้าวยังไม่ให้ผลผลิตและให้ผลผลิตแล้ว จะพบตัวหนอนเข้าทำลายแทะกินผิวใต้ทางใบมะพร้าว จากนั้น ตัวหนอนจะถักใยโดยใช้มูลที่ถ่ายออกมาผสมเส้นใยที่สร้างขึ้นนำมาทำอุโมงค์คลุมลำตัวยาวตามใต้ทางใบ ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ภายในอุโมงค์ที่สร้างขึ้นและแทะกินผิวใบแก่

กรณีระบาดรุนแรง จะพบหนอนหัวดำมะพร้าวทำลายก้านทางใบ จั่น และผลมะพร้าว ตัวหนอนจะถักใยดึงใบมะพร้าวมาเรียงติดกันเป็นแพ เมื่อตัวหนอนโตเต็มที่จะถักใยหุ้มลำตัวเพื่อเข้าดักแด้อยู่ในอุโมงค์ ดักแด้มีสีน้ำตาลเข้ม ดักแด้เพศผู้จะมีขนาดเล็กกว่าดักแด้เพศเมียเล็กน้อย ผีเสื้อหนอนหัวดำมะพร้าวที่ผสมพันธุ์แล้วจะวางไข่บนเส้นใยอุโมงค์หรือซากใบที่ถูกทำลาย เมื่อตัวหนอนฟักออกจากไข่จะอยู่รวมเป็นกลุ่ม 1-2 วัน ก่อนจะย้ายไปกัดกินใบมะพร้าว จึงมักพบตัวหนอนหลายขนาดกัดกินอยู่ในใบเดียวกัน หากการเข้าทำลายรุนแรง อาจส่งผลทำให้ต้นมะพร้าวตายได้

เกษตรกรควรใช้วิธีป้องกันกำจัดแบบผสมผสาน คือ วิธีเขตกรรม วิธีกล ชีววิธี และการใช้สารเคมี สำหรับวิธีเขตกรรมและวิธีกล ให้เกษตรกรตัดใบที่มีหนอนหัวดำมะพร้าวนำไปเผาทำลายทันที ไม่ควรย้ายต้นพันธุ์มะพร้าว ปาล์มน้ำมัน หรือพืชตระกูลปาล์มมาจากแหล่งที่มีการระบาด ส่วนการใช้ชีววิธีในการกำจัด ให้เกษตรกรปล่อยแตนเบียนโกนีโอซัส นีแฟนติดิสในช่วงเวลาเย็นพลบค่ำ อัตรา 200 ตัวต่อไร่ต่อครั้ง โดยปล่อยให้กระจายทั่วแปลงเดือนละครั้ง ถ้าปล่อยแตนเบียนได้มากจะทำให้เห็นผลในการควบคุมเร็วขึ้น

การใช้สารเคมีในมะพร้าวต้นสูงมากกว่า 12 เมตรขึ้นไป ให้เกษตรกรใช้สว่านเจาะรูที่ลำต้นให้รูอยู่สูงจากพื้นดิน 1 เมตร เอียงลง 45 องศา ลึก 10-15 เซนติเมตร เจาะ 2 รู ให้รูอยู่ตรงข้ามกันและต่างระดับกันเล็กน้อย จากนั้นให้ใช้สารอีมาเมกตินเบนโซเอต 1.92% อีซีเข้มข้น ไม่ผสมน้ำฉีดเข้าลำต้นมะพร้าว อัตรา 30 มิลลิลิตรต่อต้น โดยฉีดสารฆ่าแมลงลงไปรูละ 15 มิลลิลิตร และปิดรูด้วยดินน้ำมัน วิธีนี้จะป้องกันกำจัดหนอนได้นานมากกว่า 3 เดือน และป้องกันกำจัดศัตรูชนิดอื่นได้ด้วย วิธีนี้ห้ามใช้กับมะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวกะทิ และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลโดยเด็ดขาด

สำหรับมะพร้าวที่ต้นสูงน้อยกว่า 12 เมตร รวมทั้งมะพร้าวกะทิ มะพร้าวน้ำหอม และมะพร้าวที่ใช้ทำน้ำตาลในพื้นที่ ระบาดรุนแรง และไม่ได้มีการปล่อยแตนเบียน ให้เกษตรกรพ่นด้วยสารเคมีฟลูเบนไดอะไมด์ 20% ดับเบิ้ลยูจี อัตรา 5 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารคลอแรนทรานิลิโพรล 5.17% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารสปินโนแซด 12% เอสซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือสารลูเฟนนูรอน 5% อีซี อัตรา 20 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่ม 1-2 ครั้ง ห่างกัน 15 วัน ซึ่งควรใช้เครื่องยนต์พ่นสารที่สามารถควบคุมแรงดันได้ และมีแรงดันไม่น้อยกว่า 30 บาร์ กรณีที่ปล่อยแตนเบียน ให้ปล่อยหลังพ่นสารเคมี 2 สัปดาห์ วิธีนี้ใช้เคลื่อนย้ายต้นพันธุ์เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของหนอนหัวดำมะพร้าวได้เช่นกัน

******************************************************

อังคณา  ว่องประสพสุข : ข่าว

กลุ่มประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ กรมวิชาการเกษตร