How to Play เล่นเปลี่ยนโลก

คุณคิดว่าเล่น สำคัญกับเด็กแค่ไหน? เดี๋ยวผมจะเล่าให้ฟัง

เล่น คือ พื้นฐานสำคัญในการดำเนินชีวิต เด็กทุก ๆ คนก็ควรได้เล่นกันวันละนิด

พูดถึงการเล่น หรือว่า Free Play เพราะช่วยพัฒนาเด็ก ได้อย่างโอเคร คิดวิเคราะห์อย่างดี และมีเหตุผล

มีการคิดทบทวนที่ไม่สับสน ช่วยพัฒนาด้านการจัดการ ช่วยให้เขานั้นคิดได้อย่างมีกระบวนการ แก้ไข วางแผน และก็จดจำ ไปเป็นเครื่องมือช่วยปรับอารมณ์และก็พฤติกรรม โย่วว โย่ว…

เนื้อหาบางส่วนของเพลง เพราะเล่นจึงเป็นสุข จัดทำขึ้นโดยภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก Let’ Play Moreเพลงที่ต้องการสื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง และคุณครูได้เข้าใจถึงความสำคัญถึงการเล่นของเด็ก ๆ เมื่อเรื่อง ‘เล่น’ ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ อีกต่อไป เพราะการเล่น คือ ชีวิตและพลังวิเศษของเด็ก การเล่นสำหรับเด็กนั้นดูเรียบง่าย แต่พลังของการเล่นนั้นกลับยิ่งใหญ่เหลือเกิน การเล่นเป็นสัญชาตญาณของความสุข และที่สำคัญการเล่นไม่ได้เปลี่ยนแค่โลกของเด็กอย่างเดียวแต่จะเปลี่ยนโลกของพ่อแม่และครอบครัวด้วย

การปล่อยให้เด็กได้เล่นอย่างอิสระโดยไม่มีอะไรไปจำกัดส่งผลดีกับเด็กอย่างไร? ในยุคที่ทุกอย่างมีแต่ความผันผวนแบบนี้ งานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องเล่นด้วย จะเอาเวลาที่ไหนไปเล่นกับลูก แล้วจะเอาความรู้และทักษะเหล่านั้นมาจากไหน ถ้าไม่มีอินเทอร์เน็ต ไม่มีอุปกรณ์ในการเล่น จะไปเรียนรู้จากที่ไหนดี จากคำถามเหล่านี้จึงเป็นที่มาของการจัดงาน มหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก ตอน พากันเล่น ที่เกิดขึ้นจากความตั้งใจของสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. และภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก ที่อยากเชิญชวนพ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู มาเป็นผู้อำนวยการเล่น สนับสนุนให้เด็กได้เล่นอิสระจากสิ่งรอบตัว โดยมีเป้าหมายสำคัญ คือ ใช้การเล่นเป็นเครื่องมือในการพัฒนาเด็กให้เติบโตขึ้นอย่างมีความสุข เพื่อรองรับกับยุค VUCA Word อย่างมีคุณภาพ

นางสาวณัฐยา บุญภักดี ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สสส. กล่าวถึงการจัดงานมหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก ตอน พากันเล่น ในครั้งนี้ว่า งานมหกรรมเล่นเปลี่ยนโลกครั้งนี้มีชื่อตอนว่า พากันเล่น สสส. และภาคีเครือข่ายมีความตั้งใจมากว่า เมื่อโลกเรามีการเคลื่อนตัวเข้าสู่ความผันผวนสูง มีความซับซ้อนมากขึ้น เหตุไม่คาดฝันเกิดขึ้นมากมาย จึงจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมให้เด็กรับมือและกล้าตัดสินใจ กล้าร่วมมือกับผู้อื่นในการแก้ไขปัญหา เพื่อทำให้ชีวิตของพวกเขาและสังคมดีขึ้น

“วิธีการเลี้ยงลูกในยุคเดิมจะยังใช้กับเด็กในยุคปัจจุบันได้ไหม? เหล่านี้เป็นคำถามที่เป็นช่องว่าง ซึ่ง สสส. และภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลกเห็นถึงความสำคัญว่า พ่อแม่ยุคใหม่อยากจะมีทักษะที่ใช่และถูกต้อง เหมาะสม ในการเลี้ยงลูก เพื่อให้เขาเติบโตในยุคที่ทุกสิ่งทุกอย่างผันผวนได้อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งเราพบว่า การเล่นอิสระ คือสิ่งที่ใช่ ทำได้ง่าย ไม่ต้องมีเครื่องมือ หรืออุปกรณ์อะไรมากมาย อยู่ที่ไหน ตรงไหน ก็เล่นได้ เพียงแค่ใช้สิ่งรอบตัวและความรักจากพ่อแม่ คุณครู มาช่วยอำนวยการเล่นให้กับเด็ก ๆ คีย์เวิร์ดสำคัญ คือ อิสระ สนับสนุนให้เด็กมีทักษะและความพร้อมสำหรับการเติบโตขึ้นเป็นวัยรุ่นและผู้ใหญ่ในอนาคต” นางสาวณัฐยา กล่าว

นอกจากนี้ งานมหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก ยังมีคำแนะนำในการเล่นอิสระสำหรับเด็ก ๆ จากเหล่ากูรูผู้เชี่ยวชาญการเล่นมาแนะนำพ่อแม่และคุณครูอีกด้วย

How To Play ‘เล่น’ เปลี่ยนโลก

1.สร้างตัวตนให้กับเด็กผ่านการเล่น

ช่วยให้เด็กเล่นโดยแรงขับภายใน ตามความคิด ความสนใจและวิธีการของตนเอง ด้วยเหตุผลของตนเอง ควบคุมเนื้อหาการเล่นว่าเด็กอยากจะเล่นอะไร โดยมีพ่อแม่ หรือครูเป็นผู้คอยดูแล

2.เล่นในธรรมชาติ

เล่นในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติที่เด็กรักและดูแล เด็ก ๆ จะได้รับประสบการณ์การเข้าถึงอิสรภาพภายใน เข้าถึงพื้นที่และค้นพบตัวตนที่เชื่อมเข้ากับผืนดินถิ่นฐานของเขาด้วยความผูกพันลึกซึ้ง

3.สร้างพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งการวางใจในการเล่น

เล่นที่ไหน ก็เล่นได้ทั้งในบ้านและนอกบ้าน แต่ต้องเป็นพื้นที่การเล่นที่ปลอดภัย ทั้งเรื่องกายภาพและอุบัติเหตุ

4.พื้นที่ปลอด “อำนาจการเล่น”

ปล่อยให้ “อำนาจการเล่น” อยู่ที่เด็ก โดยที่พ่อแม่ผู้ปกครอง จะต้องไม่ไปจำกัดการเล่นของลูกว่า เล่นอันนั้นสิ เล่นอันนี้สิ

5.รู้สึกสนุกไปกับการเล่นของลูกก่อน

ดึงความสนุก ความสุขในวัยเด็กของพ่อแม่ออกมาเล่นกับลูก ชวนให้ลูกรู้สึกสนุกและมีความสุขเวลาที่เล่นกับพ่อแม่

6.ของเล่นหาง่าย เล่นได้ทุกสิ่งรอบตัว

ให้ความสำคัญกับสิ่งรอบตัว สิ่งของรอบตัวเป็นของเล่นสำหรับเด็กได้

7.ถึงแม้มีของเล่น แต่พ่อแม่ยังคงต้องเล่นกับลูกด้วย

เด็กทุกคนต้องการเล่นอย่างมีปฏิสัมพันธ์กับพ่อแม่หรือผู้คน เป็นช่วงเวลาที่มีค่า ทำให้เด็กได้เข้าใจถึงความรัก ความผูกพัน การช่วยเหลือ รู้จักการเข้าสังคม

8.เล่นอิสระทุกวัน สร้างพลังสุข

เด็กควรได้เล่นอิสระ อย่างน้อยวันละ 30 นาที

สสส. และภาคีเครือข่ายเล่นเปลี่ยนโลก เชิญชวน พ่อแม่ ผู้ปกครอง คุณครู มาเป็นผู้อำนวยการเล่น ร่วมกันสร้างมหกรรมการเล่นให้เกิดขึ้นในบ้าน ในโรงเรียน ศูนย์เด็กเล็ก พื้นที่ชุมชน เปิดพื้นที่เหล่านี้ให้เด็กได้เล่นอิสระ ค้นหา เรียนรู้ ทดลอง วิเคราะห์ และเข้าสังคมกับเพื่อน ๆ ทำให้มหกรรมเล่นเปลี่ยนโลกเกิดขึ้นได้ทุกที่ เพื่อร่วมกันเปลี่ยนพลังแห่งการเล่นให้เป็นพลังแห่งชีวิตและพลังแห่งสังคม เปลี่ยนโลกแห่งการเล่นให้เป็นเครื่องมือนำพาเด็กไทยให้เติบโตขึ้นอย่างเต็มศักยภาพ พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาในยุค VUCA Word

เรื่องโดย  ฐิติพร โยทาพันธ์ Team Content www.thaihealth.or.th

ข้อมูลจาก มหกรรมเล่นเปลี่ยนโลก ตอน พากันเล่น