สหพัฒน์ รวมพลังเครือข่ายพันธมิตร เดินหน้าโครงการ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ปีที่ 2 ปรับมุมมองแนวคิดการบริหารจัดการขยะไปยังกลุ่มเยาวชนในโรงเรียน 11 แห่งรอบคุ้งบางกะเจ้า รวมทั้งชุมชนและหน่วยงานร้านค้าโดยรอบพื้นที่ รณรงค์ให้เยาวชนและคนในชุมชนนำขยะมาแลกสิ่งของอุปโภคบริโภค ผ่าน “แคมเปญ เก็บแยก แลก เร๊ววว” พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดขยายสู่คนในครอบครัว สอดคล้องกับความมุ่งหมายของสหพัฒน์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy
นางผาสุข รักษาวงศ์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) หรือ SPC เปิดเผยว่า สหพัฒน์ ร่วมเดินหน้าโครงการ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ปีที่ 2 รวมพลังความร่วมมือของภาคธุรกิจ ภาคสังคม และภาคชุมชน มุ่งสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องการบริหารจัดการขยะ ดูแลสิ่งแวดล้อม พร้อมช่วยเหลือชุมชนในช่วงโควิด -19 ณ บริเวณคุ้งบางกะเจ้า ซึ่งในปีนี้ได้มีการขยายเครือข่ายการมีส่วนร่วมของภาคเอกชน
โดยมี บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน) (OSP) บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิ เข้ามาร่วมสนับสนุนให้การดำเนินโครงการมีความเข้มแข็งมากขึ้น จากเดิมที่ได้นำร่องโครงการฯ โดยร่วมมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และวัดจากแดงในปีที่ผ่านมา
“สำหรับการดำเนินโครงการปีที่ 2 นี้ จะขยายการสนับสนุนสินค้าอุปโภคบริโภคแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่ที่นำขยะมาส่งให้กับสถานีขยะล่องหน จากเดิมที่มุ่งเน้นกลุ่มประชาชนเป็นหลัก โดยสหพัฒน์จะเป็นแกนนำในการสร้างการตระหนักรู้ เน้นการสร้างจิตสำนึกให้ความรู้ความเข้าใจการจัดการขยะ ผ่าน “แคมเปญ เก็บแยก แลก เร๊ววว” รณรงค์ให้คนในชุมชนนำขยะมาแลกสิ่งของอุปโภคบริโภค ปรับมุมมองแนวคิดการบริหารจัดการขยะไปยังกลุ่มเยาวชนในโรงเรียน 11 แห่งรอบคุ้งบางกะเจ้า ครอบคลุมนักเรียน 1,000 คน ร
วมทั้งชุมชนและหน่วยงานร้านค้าโดยรอบพื้นที่ ให้เกิดการตระหนักรู้ว่าขยะไม่ใช่ขยะ ไม่มีอะไรเป็นขยะ ส่งเสริมให้เห็นมูลค่าของขยะมากขึ้น และรู้ว่าขยะทุกประเภทมีทางไปและรีไซเคิลเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้ พร้อมนำความรู้ที่ได้ไปต่อยอดขยายสู่คนในครอบครัวต่อไป สอดคล้องกับความมุ่งหมายของสหพัฒน์สู่การพัฒนาที่ยั่งยืนทั้งในมิติของสังคมและสิ่งแวดล้อม เป็นไปตามแนวทางของเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular Economy” นางผาสุข กล่าว
นอกจากนี้ สหพัฒน์ยังช่วยส่งเสริมแนวคิดการทำงานสถานีขยะล่องหน โดยนำองค์ความรู้จาก ”โครงการสหพัฒน์ให้น้อง” ที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ในการมุ่งปลูกฝังให้เยาวชนรู้จักการคัดแยกขยะเพื่อร่วมดูแลสิ่งแวดล้อม โดยจะนำองค์ความรู้ต่าง ๆ มาต่อยอดและส่งเสริมแนวคิดการทำงานสถานีขยะล่องหน เน้นการปลูกฝังให้ชุมชนเรียนรู้การคัดแยกขยะได้อย่างถูกต้อง การนำขยะเหลือทิ้งมา DIY เพื่อให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ การกำจัดขยะอย่างถูกวิธี
อย่างไรก็ดี สำหรับผลการดำเนินโครงการ “สถานีขยะล่องหน รวมพลังมหาชุมชน คุ้งบางกะเจ้า” ในปีแรก ทำให้เกิดการแยกขยะ 4,770 กิโลกรัม ช่วยลดปริมาณคาร์บอนฟรุตปริ้น 4,093.86 CO2e หรือเทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 455 ต้น นับเป็นการช่วยเหลือคนในชุมชน พร้อมกับส่งเสริมการดูแลสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับความมุ่งมั่นของบริษัทฯ ในการยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้บริโภค สร้างความร่วมมือในชุมชนตระหนักรู้เรื่องการแยกขยะและสิ่งแวดล้อม เกิดการช่วยเหลือชุมชนด้านค่าครองชีพ จากสินค้าอุปโภคบริโภคจากการแลกขยะ เช่น ผงซักฟอก น้ำยาล้างจาน มาม่า เป็นต้น
โดยขยะทั้งหมดนำไปเป็นส่วนหนึ่งในการแปรรูปเพื่อก่อสร้างอาคารพระไตรปิฎกอีกด้วย