การสร้าง ‘พื้นที่สีเขียว’อาจเป็นประโยชน์มากกว่าที่ใครหลายคนคิด เพราะไม่เพียงแต่ในแง่ของการเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ หรือช่วยลดมลพิษทางอากาศ แต่ยังสามารถสร้างความมั่นคงทางอาหาร นำไปสู่ระบบอาหารยั่งยืนได้อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับผู้คนที่อยู่ในสังคมเมือง ซึ่งอาจได้รับผลกระทบมากที่สุด หากไม่สามารถสร้างแหล่งอาหารด้วยตนเองได้ในช่วงของการเกิดภาวะวิกฤต ซึ่งได้ถูกฉายภาพชัดเจนอย่างยิ่งในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา
ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดงาน เทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 7 ตอน เมือง-ฟาร์ม-สัมพันธ์ โดยความร่วมมือของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โครงการสวนผักคนเมือง มูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) และภาคีเครือข่าย เพื่อเปิดพื้นที่สื่อสารถึง ‘ความสัมพันธ์’ระหว่างพื้นที่เกษตรในเมืองกับคนเมืองทุกกลุ่มที่มีความหลากหลาย
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า สสส. คำนึงถึงความสำคัญในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพ โดยเฉพาะเรื่องประเด็นอาหาร ถือเป็นเรื่องที่เราให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะว่าเป็นหนึ่งในปัจจัย 4 ที่ผ่านมา พบว่า คนยังบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพไม่เพียงพอ การแก้ปัญหาที่มีประสิทธิภาพ จึงต้องดูตลอดห่วงโซ่อาหาร ตั้งแต่การผลิต การกระจาย การบริโภค
ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าวต่อว่า เทศกาลสวนผักคนเมืองเกิดจากการรวมกลุ่มเครือข่ายการทำงาน ส่งเสริมให้คนในเมืองปลูกผัก ทำให้พวกเขาเข้าถึงอาหารได้ รวมทั้งร่วมมือกับมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อส่งเสริมโมเดลการทำงานนี้ ออกไปในวงกว้าง เพื่อแก้ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะของกลุ่มคนในเมือง ทำอย่างไรให้เกิดการเชื่อมระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ด้วยราคาที่ไม่สูงมาก ภายในงาน จึงจัดให้มีตลาดที่เชื่อมโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้บริโภค รวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผัก การนำผลผลิตมาประกอบอาหาร รวมทั้งการจัดการขยะที่เหลือจากการบริโภคด้วย สสส.สนับสนุนให้งานลักษณะนี้เกิดขึ้นในวงกว้าง เพื่อสร้างสรรค์ระบบอาหารให้มีความยั่งยืนและมีความมั่นคงมากขึ้น
“ช่วงโควิด-19 เป็นภาพสะท้อนอย่างชัดเจนให้เห็นถึงปัญหาความมั่นคงทางอาหาร โดยเฉพาะในสังคมเมือง การทำเกษตรในเมือง เพื่อสร้างพื้นที่อาหารของเมือง ถือเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประชาชนกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ ทั้งนี้ การปรับตัวสู่ชีวิตวิถีใหม่ด้วยการทำเกษตรในเมืองและสร้างพื้นที่อาหารของเมือง จะเป็นแนวทางสำคัญที่ทำให้ประชาชนมีความสัมพันธ์ที่ดีกับพื้นที่อาหารของเมือง กระทั่งกลายเป็นวิถีชีวิต และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนทุกกลุ่มไปพร้อมกัน” ดร.นพ.ไพโรจน์ กล่าว
นางสุภา ใยเมือง ผู้อำนวยการมูลนิธิเกษตรกรรมยั่งยืน (ประเทศไทย) กล่าวว่า เทศกาลสวนผักคนเมืองในครั้งนี้มีชื่อว่า เมือง-ฟาร์ม-สัมพันธ์ เพราะเราอยากจะเปิดพื้นที่ให้ผู้คนมาสัมพันธ์กัน ไม่ใช่เฉพาะในเรื่องของการเพาะปลูกแต่รวมไปถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องอาหาร หรือวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับเรื่องสิ่งแวดล้อม มีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น เพื่อนำองค์ความรู้ไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นของสังคมเมืองด้วย
“ช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนเมืองที่ถูกกักตัวและเข้าไม่ถึงอาหาร โครงการสวนผักคนเมืองได้ทำหน้าที่เป็นเหมือนสะพานเชื่อมโยงอาหาร จากแหล่งผลิตในเมืองและรอบเมือง ไปสู่ตัวเมือง ชานเมือง และชนบท ทำให้เกิดเครือข่ายสังคมในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ครอบคลุมถึงการเป็นพื้นที่สีเขียวกินได้ ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญในการอนุรักษ์และพัฒนาสิ่งแวดล้อมของเมืองใหญ่ให้ยั่งยืน” นางสุภา กล่าว
ในด้านของ นายอำนาจ เรียนสร้อย ผู้ก่อตั้งแทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม ตัวแทนผู้มาออกร้านในงานเทศกาลสวนผักคนเมือง เล่าให้ฟังว่า จุดเริ่มต้นของการเข้ามาร่วมโครงการสวนผักคนเมือง คือ รู้จักกับกลุ่มเพื่อนสมาชิกที่ร่วมก่อตั้งโครงการสวนผักคนเมืองอยู่แล้ว และได้มีการรวมกลุ่มถ่ายทอดแลกเปลี่ยนประสบการณ์ของกลุ่มเกษตรกรที่ทำในเรื่องของการผลิตอาหารปลอดภัยให้กับคนเมือง มีการศึกษาดูงาน แลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องการทำปศุสัตว์อินทรีย์
“คำว่า ‘ความมั่นคงทางอาหาร’ คือ การที่ใครก็ตามที่ต้องบริโภค มีความสามารถในการผลิต การสร้างแหล่งอาหารง่าย ๆ ด้วยตนเอง และสามารถพึ่งพาทรัพยากรในพื้นที่ของตนเองได้ แทนคุณฟาร์มจึงมีความตั้งใจที่จะเผยแพร่องค์ความรู้ให้กับคนที่ต้องการทำฟาร์มไก่อินทรีย์ หรือพึ่งพาตัวเองในด้านการผลิตอาหารจากปศุสัตว์ จากการทำงานต่อเนื่องมาประมาณ 2-3 ปี พบว่า มีเกษตรกรจำนวนไม่น้อย ที่มีความสนใจในเรื่องของปศุสัตว์อินทรีย์ จึงอยากให้แทนคุณฟาร์มเป็นเหมือนโมเดลหนึ่ง ที่ให้คน ที่มีความสนใจทางด้านปศุสัตว์อินทรีย์เข้ามาศึกษา และสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตัวเองได้” ผู้ก่อตั้งแทนคุณออร์แกนิคฟาร์ม กล่าว
หัวใจสำคัญของระบบอาหารยั่งยืน คือ การทำให้ทุกคนสามารถพึ่งพาตนเอง และเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยได้ทั้งในช่วงเวลาปกติและช่วงวิกฤต เพราะ ‘อาหาร’ นับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดผลกระทบ ต่อสุขภาพ ถ้าเราได้บริโภคอาหารที่ดี มีประโยชน์ ก็จะช่วยป้องกันการเจ็บป่วยจากโรคต่าง ๆ
การขับเคลื่อนงานของแผนอาหารเพื่อสุขภาวะ สสส. เน้นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาต้นแบบระบบห่วงโซ่อาหาร โดยบูรณาการการทำงานระหว่างภาคีเครือข่าย เชื่อมร้อยความสัมพันธ์ระหว่างผู้ผลิต และผู้บริโภค เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงแหล่งอาหารปลอดภัยในพื้นที่ของตนเองได้มากที่สุด รวมทั้งสนับสนุนให้เกิดความตระหนักถึงสิทธิความเป็นพลเมืองอาหาร สร้างการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนด้านความมั่นคงทางอาหาร อาหารปลอดภัย และโภชนาการอย่างยั่งยืน
เรื่องโดย ปัญจวรา บุญสร้างสม Team Content www.thaihealth.or.th
ข้อมูลบางส่วนจาก งานเทศกาลสวนผักคนเมือง ครั้งที่ 7 เมือง-ฟาร์ม-สัมพันธ์