ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันที่16 มิ.ย.65 ที่ระดับ 34.85 บาทต่อดอลลาร์“แข็งค่าขึ้น”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.02 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมตอบรับผลการประชุมเฟดในเชิงบวก โดยผู้เล่นในตลาดการเงินกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากที่ เฟดมีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ พร้อมทั้งส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องอีกราว 1.75% ในปีนี้ และ อีก 0.50% ในปีหน้า จนกว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้ พร้อมกันนี้ ประธานเฟดยังได้เน้นย้ำในช่วง Press Conference ว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้น เป็นไปเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ โดยจะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) ซึ่งสอดคล้องกับประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของเฟด ที่ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะโตลดลงจากประมาณการครั้งก่อน เหลือ +1.7% ในปีนี้ และ ปีหน้า และขยายตัว +1.9% ในปี 2024 ส่วนอัตราการว่างงานก็จะทยอยเพิ่มขึ้นสู่ระดับเพียง 4.1% ในปี 2024 จากระดับคาดการณ์ที่ 3.7% ในปีนี้

การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยต่อเนื่องของเฟด เพื่อควบคุมเงินเฟ้อ แต่จะไม่ทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยนั้น ได้หนุนให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 พลิกกลับมาปรับตัวขึ้น +1.46% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ก็รีบาวด์ขึ้น +1.42% หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้มีการประชุมฉุกเฉินและมีการประกาศแผนการที่จะสร้างเครื่องมือใหม่เพื่อจะลดความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ท่ามกลางความกังวลวิกฤติหนี้ครั้งใหม่ หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี ของบรรดาประเทศในฝั่งยุโรป อาทิ อิตาลี สเปน โปรตุเกส ต่างปรับตัวขึ้นอย่างมาก เมื่อเทียบกับ บอนด์ยีลด์ 10 ปี เยอรมนี

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ ท่าทีของเฟดที่อาจไม่ได้เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ ส่งผลให้ผู้เล่นบางส่วนมองว่า การประชุมเฟดล่าสุดอาจเป็นจุดสูงสุดของการส่งสัญญาณเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หรือ Peaked Hawkishness ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 3.30% จากที่แตะระดับเกือบ 3.45% ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด อย่างไรก็ดี เราคงมุมมองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่จะผันผวนได้ต่อเนื่อง เพราะเฟดยังคงติดตามข้อมูลเศรษฐกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินระดับในการขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งเรามองว่า หากจะมั่นใจได้ว่า เฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอีก จะต้องเห็นการชะลอตัวของเงินเฟ้อ รวมถึงเศรษฐกิจที่ชัดเจนก่อน ทำให้เราคงมองว่า จุด Peaked Hawkishness ของเฟด อาจจะมาถึงในการประชุมเดือนกรกฎาคม

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ท่าทีของเฟดที่ไม่ได้จะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมากกว่าคาด รวมถึงภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้ กดดันให้ เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 104.7 จุด หนุนให้ สกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ทยอยกลับมาแข็งค่าขึ้นแตะระดับ 1.047 ดอลลาร์ต่อยูโร อีกครั้ง นอกจากนี้ การย่อตัวลงของทั้งเงินดอลลาร์ และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงส่งผลให้ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้นใกล้ระดับ 1,838 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า อาจมีผู้เล่นบางส่วนที่ได้ Buy on Dip ทองคำในจังหวะการปรับฐานก่อนหน้า เข้ามาทยอยขายทำกำไรทองคำได้ ซึ่งโฟลว์ดังกล่าวอาจช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้างในวันนี้

สำหรับวันนี้ นอกเหนือจากผลการประชุมเฟดที่รับรู้ไปแล้วในช่วงเช้าตรู่ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้น ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) โดยตลาดมองว่า แรงกดดันจากปัญหาเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง จะหนุนให้ BOE อาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% สู่ระดับ 1.25% โดย BOE อาจประเมินว่าเศรษฐกิจโดยรวมยังคงได้แรงหนุนจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจล่าสุดของรัฐบาล รวมถึงตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ทำให้ BOE สามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อได้ ทั้งนี้ ตลาดประเมินว่า BOE อาจสามารถทยอยขึ้นดอกเบี้ยจนแตะระดับ 2.00% ได้ในปีนี้

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงมีแนวโน้มผันผวนในวันนี้ โดยเงินบาทได้กลับมาแข็งค่าขึ้น ตามการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ที่เผชิญแรงขายทำกำไร “Sell on Fact” ตามที่เราคาดไว้ หลังเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับปรับประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจแย่ลง นอกจากนี้ในช่วงระหว่างวัน เงินบาทอาจพอได้แรงหนุนจากโฟลว์ธุรกรรมขายทำกำไรทองคำ ซึ่งจะพอช่วยให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

ทว่า เราคิดว่า การแข็งค่าของเงินบาทยังมีอยู่อย่างจำกัด เนื่องจากระดับ 34.70-34.80 ยังคงเป็นระดับที่ผู้นำเข้าต่างก็รอทยอยเข้าซื้อเงินดอลลาร์อยู่ อีกทั้ง เงินดอลลาร์ก็พร้อมจะกลับมาแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดกลับมากังวลประเด็นเงินเฟ้อในฝั่งสหรัฐฯ ที่อาจหนุนให้เฟดยังสามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องได้ ซึ่งเรามองว่า จะสามารถมั่นใจได้ว่าเฟดจะไม่เร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง อาจต้องรอถึงการประชุมเฟดในเดือนกรกฎาคม

อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.70-34.90 บาท/ดอลลาร์

พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย