สภาเภสัชกรรม ย้ำกัญชามีประโยชน์การแพทย์-ลดอักเสบผิว-สะเก็ดเงิน-กลาก-ผื่น แต่ต้องใช้เหมาะสม-ถูกประเภท-ช่วงวัย ห่วงโฆษณาสรรพคุณเกินจริง

สภาเภสัชกรรม ย้ำกัญชามีประโยชน์การแพทย์-ลดอักเสบผิว-สะเก็ดเงิน-กลาก-ผื่น แต่ต้องใช้เหมาะสม-ถูกประเภท-ช่วงวัย ห่วงโฆษณาสรรพคุณเกินจริง ผู้ผลิตระบุคำเตือน-ส่วนประกอบ เดินหน้าเฝ้าระวังเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรม และนักวิชาการผู้ขับเคลื่อนการเข้าถึงยาในประเทศไทย กล่าวว่า สภาเภสัชกรรม ร่วมกับศูนย์วิชาการคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ สนับสนุน โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้จัดการความรู้เกี่ยวกับกัญชา สรุปว่า กัญชามีประโยชน์ทางแพทย์ และสรรพคุณรักษาอาการต่าง ๆ หากใช้ในปริมาณที่เหมาะสม

ปัจจุบันเกิดความนิยมนำกัญชามาประกอบอาหารกันอย่างแพร่หลาย ประเทศไทยมีข้อกำหนดกฎหมายที่เกี่ยวข้อง กับการใช้กัญชา เพื่อควบคุมการบริโภคกัญชาอย่างเหมาะสม อาทิ ผู้ผลิตต้องได้รับใบอนุญาต สถานที่ผลิตต้องแยกออกจากการผลิตอาหารทั่วไป เพื่อป้องกันการปนเปื้อน นอกจากนี้ต้องระบุส่วนประกอบอย่างชัดเจน ดังนี้

1. เด็ก สตรีมีครรภ์ และสตรีให้นมบุตร ไม่ควรรับประทาน

2. หากมีอาการผิดปกติ ควรหยุดรับประทานทันที

3. ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสาร THC หรือ CBD ควรระวังในการรับประทาน

4. อาจทำให้ง่วงซึมได้ ควรหลีกเลี่ยงการขับขี่ยานพาหนะ หรือทำงานเกี่ยวกับเครื่องจักรกล

5. แสดงปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอลต่อหน่วยบรรจุ พร้อมระบุ มีสาร THC ไม่เกิน 1.6 มิลลิกรัม ต่อหน่วยบรรจุ

6. ไม่ควรบริโภคเกินวันละ 2 หน่วยบรรจุ

7. ระบุคำว่า “กัญชา” หรือ “กัญชง” ที่ใช้เป็นส่วนประกอบของอาหาร เป็นส่วนหนึ่งของชื่ออาหาร หรือกำกับชื่ออาหาร การใช้กัญชาเป็นอาหาร ทั้งนี้ เพื่อประโยชน์ และความปลอดภัยของประชาชนในการบริโภคกัญชา

รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ อดีตนายกสภาเภสัชกรรมและนักวิชาการผู้ขับเคลื่อนการเข้าถึงยาในประเทศไทย กล่าวต่อว่า ที่ต้องเฝ้าระวังคือผู้บริโภคในแต่ละวัย มีสภาวะของร่างกายที่แตกต่างกัน อาทิ เด็กอายุ 8 เดือนถึง 12 ปี ที่รับประทานกัญชา จะมีอาการซึม เดินเซ หัวใจเต้นเร็วกว่าปกติ กล้ามเนื้อ อ่อนแรง ผู้ใหญ่วัย 18-25 ปี มีแนวโน้มบริโภคกัญชามากขึ้น ทำให้มีความสามารถในการจำและการรับรู้ลดลง บกพร่องในด้านความจำ เกิดความวิตกกังวล เกิดภาวะเฉื่อยเนือย หรือในกลุ่มผู้สูงอายุ จะพบอาการสมองเสื่อม เสี่ยงต่อการหกล้ม เนื่องจากเกิดภาวะความดันโลหิตต่ำ ภาวะหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ จึงต้องมีการควบคุมการใช้กัญชา ให้เหมาะสมทั้งปริมาณ รูปแบบการใช้ และช่วงวัย

รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าวเสริมว่า นอกจากอาหารแล้ว การใช้กัญชาเป็นส่วนประกอบในเครื่องสำอางก็เป็นที่นิยม โดยได้รับการอนุญาตในรูปแบบ สบู่ แชมพู ครีมนวดผม โฟมล้างหน้า ครีมบำรุงผิวหน้า โลชันบำรุงผิว ผงขัดผิว ลิปสติก ซึ่งผู้ผลิตจะต้องมีการระบุข้อความคำเตือน เช่นเดียวกับอาหาร อาทิ

1. ห้ามรับประทาน

2. ผลิตภัณฑ์อาจก่อให้เกิดการแพ้หรืออาจระคายเคืองผิวหนังได้

3. หากใช้แล้วมีความผิดปกติใดๆ เกิดขึ้น ต้องหยุดใช้และปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกร

​“ถึงแม้ว่าประโยชน์ของกัญชาสำหรับผิวหนังจากงานวิจัย เช่น ลดการอักเสบของผิว เร่งการสมานของบาดแผล บรรเทาอาการคัน ในโรคสะเก็ดเงิน กลาก ผื่นภูมิแพ้ และป้องกันการเกิดแผลเป็น ลดสิวอักเสบ แต่ในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง จำเป็นต้องมีการควบคุม โดยเฉพาะการโฆษณา ซึ่งที่ผ่านมา กฎหมายไทยที่เกี่ยวข้องกับการควบคุมการโฆษณาเครื่องสำอาง เรื่องการโฆษณาของพระราชบัญญัติเครื่องสำอาง พ.ศ. 2558 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อก่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อผู้บริโภค จึงมีการห้ามใช้ข้อความที่อาจก่อให้เกิดผลเสียกล่าวอ้างชื่อสารกัญชา-กัญชงว่าเป็นส่วนผสมในเครื่องสำอางในทางการโฆษณา

ซึ่งจะต้องเป็นข้อความที่สื่อความหมายในขอบข่ายของการเป็นเครื่องสำอาง เช่น ใช้เพื่อความสะอาด ความสวยงาม หรือส่งเสริมให้เกิดความสวยงาม โดยไม่เกิดผลด้านอื่นแก่สุขภาพ หรือไม่กล่าวอ้างสรรพคุณทางยา อันจะก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับเครื่องสำอาง และต้องสอดคล้องกับประเภทเครื่องสำอางที่จดแจ้งไว้ และพิสูจน์ได้ว่าข้อความที่ใช้ในการโฆษณาเครื่องสำอาง ต้องไม่เป็นเท็จหรือเกินความจริง” รศ.ดร.ภญ.จิราพร กล่าว