กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ แนะ 4 แยก แยกกิน แยกใช้ แยกทิ้ง แยกอยู่ ปลอดโควิด 19 ลดการนำเชื้อ เมื่อกลับมาจากที่ทำงานและจากโรงเรียน ตามสุขบัญญัติแห่งชาติข้อที่ 10 มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม
นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ที่มีมาตรการผ่อนคลาย และสามารถมาทำงานได้ตามปกติ รวมถึงสถานศึกษาได้ทำการเปิดเรียนแบบ onsite ซึ่งมีโอกาสที่คนในครอบครัวสามารถนำเชื้อมาติดคนในครอบครัวได้
กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ได้ผลักดันให้ประชาชนดูแลสุขภาพกาย จิต และสังคม ด้วยข้อปฏิบัติที่ควรกระทำในชีวิตประจำวันอย่างสม่ำเสมอตามสุขบัญญัติแห่งชาติ 10 ประการ ให้เกิดเป็นสุขนิสัยของทุกคน ด้วยการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้เผยแพร่ความรู้ ข้อมูลข่าวสารและสร้างกระแสสังคมตลอดมา ตามสถานการณ์ปัญหาสาธารณสุขที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อให้สามารถจัดการสุขภาพตนเองได้ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ถูกต้อง
โดยปฏิบัติตามสุขบัญญัติข้อที่ 10 มีสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม แนะ 4 แยก ปลอดโควิด 19 ลดการนำเชื้อเข้าบ้าน ดังนี้
1) แยกกิน ไม่ใช้มือเปล่าหยิบอาหารเข้าปาก ก่อนทานต้องล้างมือให้สะอาด เว้นระยะห่างในการรับประทาน และรับประทานอาหารปรุงสุกใหม่
2) แยกใช้ ไม่ใช้ของส่วนตัวร่วมกับผู้อื่น เช่น แก้วน้ำ ช้อน ส้อม ผ้าเช็ดตัว
3) แยกทิ้ง แยกขยะติดเชื้อ ทิ้งในถุงขยะฉีดพรมแอลกอฮอล์ 70 % ปิดถุงให้แน่น ติดป้าย “ขยะติดเชื้อ” ทิ้งลงถังขยะที่มีฝาปิดมิดชิด ล้างมือทันทีด้วยสบู่และน้ำสะอาดหรือแอลกอฮอล์เจล
4) แยกอยู่ ไม่รวมตัวกันจำนวนมาก เมื่อรู้ว่ามีความเสี่ยงสูง หรือมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ หายใจลำบาก แยกตัวออกจากผู้อื่น และตรวจ ATK ทันที เมื่อทราบผล และเฝ้าระวังอาการเพื่อรักษาต่อไป
ด้านทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า สุขบัญญัติข้อที่ 10 มีจิตสำนึกต่อส่วนรวม ร่วมสร้างสรรค์สังคม ยังรวมถึงการใช้หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธีสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการนำเชื้อเข้าบ้านได้เช่นเดียวกัน ด้วยการสวมหน้ากากอนามัยให้ถูกต้อง โดยสวมหน้ากากให้ถูกวิธี รวมถึงการล้างมือที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย ด้วยการล้างมือให้สะอาด ก่อนทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ หลังสัมผัสพื้นผิววัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ร่วมกันทุกครั้ง เช่น ลูกบิดประตู ปุ่มกดลิฟต์ เป็นต้น ล้างมือทุกครั้ง โดยเฉพาะเมื่อกลับถึงบ้าน และควรอาบน้ำและเปลี่ยนเสื้อผ้าทันที ตามหลักสุขบัญญัติ “ปฏิบัติสุขบัญญัติ ให้เป็นสุขนิสัย สุขภาพกาย ใจ แข็งแรง”
15 มิถุนายน 2565