14 มิถุนายน 2565 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณจากกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ภายในงาน “อว.ช่วยชาติฝ่าวิกฤต COVID-19” ที่จัดขึ้น เพื่อขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนภารกิจของรัฐบาลในการบริหารสถานการณ์ของประเทศ ณ โรงแรมแบงค็อก แมริออท มาร์คีส์ ควีนส์ปาร์ค กรุงเทพฯ
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจอย่างยิ่งที่ GISTDA ได้เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศ โดยเฉพาะในภาวะวิกฤติและถือเป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จในการปฏิรูปและแสดงบทบาทของกระทรวงการอุดมศึกษาฯกับการพัฒนาสังคม โดยในช่วงแรกของสถานการณ์โควิด 19 GISTDA ได้เริ่มสนับสนุนการพัฒนาและให้บริการ Platform ระบบภูมิสารสนเทศ Covid-19 iMAP ด้วยการบูรณาการข้อมูลจากหน่วยงานภายใน และภายนอกคณะทำงานฯ ที่เกี่ยวข้องมากกว่า 9 กระทรวง 17 หน่วยงาน อาทิ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงการคลัง กระทรวงมหาดไทย กระทรวงพาณิชย์ กองบัญชาการกองทัพไทย กรุงเทพมหานคร จังหวัดสมุทรสาคร และสํานักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล เป็นต้น
ร่วมกันพัฒนาเป็นระบบการนำเสนอและวิเคราะห์ข้อมูลที่จำเป็นสำหรับการติดตามสถานการณ์โดยมีกรมควบคุมโรคเป็นผู้ควบคุมข้อมูล (Data Controller) และ GISTDA เป็นผู้ดูแลและพัฒนาระบบบริหารจัดการสถานการณ์ และให้หน่วยงานที่ได้รับอนุญาตทั้งส่วนกลางและในพื้นที่ได้เข้าถึงและใช้งาน ซึ่งเมื่อจำนวนผู้ใช้มากขึ้นต้องเพิ่มประสิทธิภาพระบบและต้องเตรียมการประเมินผลกระทบจากสถาณการณ์ ทางกระทรวง อว.โดยสำนักงานคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติก็ได้เข้ามาสนับสนุน เพื่อให้การทำงานสามารถดำเนินการต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ในระยะถัดมา GISTDA ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการสนับสนุนข้อมูลในการบริหารสถานการณ์พื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล เพื่อลดผลกระทบการแพร่ระบาดในระดับพื้นที่และแนวทางการจัดทำมาตรการ Bubble and Seal นำร่องในจังหวัดสมุทรสาครที่พบการแพร่ระบาดจากแรงงานในกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรม ,จังหวัดปทุมธานีที่พบการระบาดในกลุ่มตลาด รวมถึงการสนับสนุนการทำงานของคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการแก้ไขสถานการณ์โควิด – 19 ในพื้นที่กรุงเทพมหานครจากสถานการณ์การการแพร่ระบาดเป็นกลุ่มก้อนคลัสเตอร์อีกด้วย
นอกจากนี้ระบบดังกล่าวยังได้พัฒนาต่อยอดลงสู่ระดับภูมิภาค 5 จังหวัด ประกอบด้วย จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก ชลบุรี และภูเก็ต ซึ่งเป็นจังหวัดท่องเที่ยวและจังหวัดแนวชายแดน เพื่อให้ตอบโจทย์การแก้ปัญหาที่มีลักษณะความแตกต่างเชิงพื้นที่ได้ ส่งผลให้ลดโอกาสการแพร่กระจายของเชื้อโควิด 19 ในพื้นที่ดังกล่าว รวมถึงการนำไปสู่แนวทางการกำหนดมาตรการที่เหมาะสม สอดคล้องกับสภาพพื้นที่เป็นรายกรณี แทนการใช้มาตรการภาพรวมทั้งประเทศ
อีกสิ่งหนึ่งที่ภาคภูมิใจจากการเป็นผู้พัฒนาและดูแลระบบฯ คือการนำเสนอระบบนี้ไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ และได้มีการนำเสนอแนวความคิดในหลายเวทีในระดับนานาชาติ รวมถึง UNESCAP ซึ่งได้ให้ความสนใจและในการต่อยอดขยายผล ไปยังภูมิภาค ASEAN
โดยได้นำไปพัฒนาต้นแบบเพื่อเป็นกรณีศึกษาและจัดฝึกอบรมให้เป็นแนวทางกับประเทศต่างๆ ใน ASEAN เช่น สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ซึ่งชี้ให้เห็นถึงการยอมรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศในสถานการณ์การระบาด นอกจากนี้แล้วยังมุ่งหวังต่อยอดแนวคิดจากการพัฒนาระบบสู่การบริหารสถานการณ์ด้านภัยพิบัติอื่น ๆเพื่อสนับสนุนภาคสังคมต่อไป ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว