ดร.พัทธนันท์ เพชรเชิดชู รองอธิการบดีสายภาคีสัมพันธ์ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (มธบ.) เปิดเผยว่า DPU X (สถาบันเพื่อพัฒนาความเป็นผู้ประกอบการและบุคลากรแห่งอนาคต) โดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ จัดกิจกรรม “จัดให้แซ่ด DPU X Startup SUMMER CAMP” เพื่อสนับสนุนให้น้องๆในระดับมัธยมศึกษาที่มีความสนใจปูพื้นฐานด้านธุรกิจเข้าร่วมรับฟังแนวคิด พร้อมฝึกตีโจทย์ วางแผนกลยุทธการสร้างธุรกิจ และ การเป็นสตาร์ทอัพที่ประสบความสำเร็จในตลาดยุคดิจิทัล กิจกรรมครั้งนี้เน้นเวิร์คชอปลงมือปฏิบัติจากโจทย์ธุรกิจที่ได้รับในหัวข้อ อาหารแห่งโลกอนาคต หรือ Food For The Future พร้อมทั้งยังได้ฟังประสบการณ์ตรงจากนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จจากตลาดออนไลน์อย่าง รัสรินทร์ ธนะชัยวัฒนะโภคิน (แคทตี้) เจ้าของสินค้าหลากหลายแบรนด์ ก่อนที่น้องๆจะลงสนาม Mini Pitching เวทีการแข่งขันนำเสนอไอเดียธุรกิจ โดยทีมที่ชนะเลิศจะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษาตลอดหลักสูตรปริญญาตรี รวมมูลค่ากว่า 1.5 ล้านบาท
“DPU X Startup SUMMER CAMP จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-25 เม.ย.62 ซึ่งทั้ง 2 วัน ทางทีมงานได้จัด กูรู มาให้ความรู้อย่างเต็มที โดยวันแรกประเดิมด้วยนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จจากตลาดออนไลน์เป็นระดับต้นๆ อย่าง “แคทตี้” เจ้าของแบรนด์เสื้อผ้า Flat2112, Babykissthailand แผ่นน้ำหอมสำหรับใช้ในรถยนต์ยี่ห้อ TED A CAR และอีกหลายธุรกิจ มาถ่ายทอดเคล็ดลับวิชาการทำตลาดออนไลน์อย่างไร ให้ประสบความสำเร็จ และ ในช่วงบ่ายวันแรกเด็กๆ จะได้ลงมือทำอาหารที่ Chef Lab และคิดค้นคอนเซ็ปต์รูปแบบการนำเสนอไอเดีย ให้สอดคล้องกับโจทย์ในหัวข้อ Food For the Future ที่ได้เรียนกับอาจารย์จากหลักสูตรการประกอบอาหารเพื่อสุขภาพ (CIM DPU) ในช่วงก่อนหน้า” ดร.พัทธนันท์กล่าว
รองอธิการบดี กล่าวอีกว่า ทางมหาวิทยาลัยจัดกิจกรรมครั้งนี้เพื่อให้น้องได้ใช้เวลาว่างในช่วงปิดเทอมให้เกิดประโยชน์และเพื่อกระตุ้นเด็กรุ่นใหม่หันมาให้ความสำคัญในสตาร์ทอัพ ซึ่งทางมหาวิทยาลัย ฯ ให้ความสำคัญกับเรื่องของสตาร์ทอัพมาตลอด และหลายปีที่ผ่านมา ได้มีการปรับหลักสูตรโดยมีการสอดแทรกเรื่องของการเป็นเถ้าแก่ไว้ในทุกหลักสูตรเพราะมองเห็นถึงแนวทางในอนาคตว่านักศึกษาที่เรียนจบไปเขาจะไปทำธุรกิจส่วนตัวหรือออกไปเป็นพนังงานบริษัทก็สามารถนำเรื่องจิตวิญญาณการเป็นเถ้าแก่ไปใช้จนประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานได้ และเชื่อว่าเจ้าของกิจการเอง ก็คงอยากจะได้พนักงานที่มีแนวคิดความเป็นเถ้าแก่มาใช้ในการทำงานด้วย เพราะพนักงานจะทำงานด้วยความใส่ใจและตั้งใจเหมือนตนเองเป็นเจ้าของกิจการเอง
ดร.พัทธนันท์ กล่าวด้วยว่า สำหรับปี 2562 นี้ เลือก หัวข้ออาหารแห่งโลกอนาคต เพราะมองว่า เป็นเรื่องใกล้ตัวทุกคน “ต้องกิน” และการทำธุรกิจเกี่ยวกับอาหารต้องรู้แนวโน้มเทรนด์ของอาหารในโลกอนาคต ถ้าสามารถปรับตัวและรู้เทรนด์ได้ก่อนคนอื่นก็จะได้เปรียบ โดยความรู้ที่ได้จากการเข้าร่วมกิจกรรมน้องๆสามารถนำไปปรับใช้ให้ เกิดประโยชน์ได้ นอกจากนี้ในวันที่ 2 ของกิจกรรม น้องๆจะได้เรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจในเชิงลึกมากขึ้นจากอาจารย์จากวิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) ในแง่ของการมองโอกาสทางธุรกิจผ่านปัญหาของกลุ่มลูกค้า การแก้ปัญหาให้ลูกค้า รวมถึงการหากลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งเป็นพื้นฐานหลักๆ ในการเริ่มต้นธุรกิจ รวมถึงเวิร์คชอปการสร้างแบรนด์และเพิ่มมูลค่าให้สินค้า หรือ บริการ ด้วยทักษะแห่งการออกแบบที่มาสอนโดยอาจารย์จากคณะศิลปกรรมโดยตรง น้องๆจะได้นำเสนอไอเดียสุดครีเอทโดยการลงมือขีดเขียนผ่านโปรแกรม Good Note ในไอแพด
สำหรับทีมที่ชนะเลิศจาก Mini Pitching รับเงินทุนการศึกษาจำนวน 10,000 บาท พร้อมทุนศึกษาต่อระดับปริญญาตรีฟรีตลอดหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ ได้แก่ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษา ปีที่ 5 ทีม “อะจ๊วง” จากโรงเรียนธรรมศาสตร์คลองหลวงวิทยา จ.ปทุมธานี ประกอบด้วย นายพีระ เพิ่มพูน (พี) นางสาว พรปวีณ์ ปิติทิพยพัฒน์ (แอมเวย์) และนายชยานันท์ พิลึก (นิว) ร่วมกันเสนอไอเดียกล่องพิซซ่าลดโลกร้อน
นายพีระ เพิ่มพูน ตัวแทนทีมอะจ๊วง กล่าวว่า ที่เลือกทำกล่องพิซซ่าลดโลกร้อน ภายใต้แบรนด์ NAP BOX ปัญหาของลูกค้า คือ กล่องเก็บความร้อนไม่ได้นาน จึงคิดทำสินค้าเพื่อตอบโจทย์แก้ไขปัญหานี้ให้กับลูกค้า อีกอย่างการเป็นสตาร์ทอัพทุนมีไม่มาก จึงตั้งเป้าหมายแค่กลุ่มลูกค้าร้านขายพิซซ่ากลุ่มเดียวก่อนค่อยขยายฐานลูกค้าในภายหลังได้ โดยตอนแรกก็คิดสารพัดสินค้าวนอยู่แต่กับอาหาร พออาจารย์จาก มธบ.ให้คำแนะนำว่า สินค้าไม่จำเป็นต้องเป็นอาหารก็ได้เป็นแพคเกจจิ้ง ที่ใช้ในอุตสาหกรรมอาหารก็ได้ เลยสรุปออกมาเป็นโปรดักส์ตัวนี้ ตัวกล่องจะประกอบด้วย กระดาษ และ ฟอยท์เก็บความร้อน ที่นำมาเรียงเป็น 3 ชั้น เพื่อเก็บความร้อน และเรายังช่วยลดโลกร้อน โดยกล่องสามารถนำมารีไซเคิลได้ให้ลูกค้าส่งคืนกลับมาเน้นการรักษาสภาพแวดล้อมถือเป็นโปรดักส์รักษ์โลก
“สิ่งที่เราคิดจะได้ประโยชน์ถึง 3 ฝ่ายด้วยกัน คือ สร้างจิตสำนึกร่วมรักษ์โลกให้กับผู้บริโภคของแบรนด์ที่เราเป็นซัพพลายเออร์ให้ ตัวลูกค้าของเราเองก็มีภาพของสินค้าที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และตัวของเราเองด้วย เมื่อตัวสินค้าขายดีขึ้นเราเองก็จะได้ยอดขายเพิ่มตามไปด้วย เป็นการช่วยขยายฐานผู้บริโภคที่ใส่ใจกับสิ่งแวดล้อมให้กับลูกค้าของเราด้วย ซึ่งจะช่วยให้เราเติบโตไปพร้อมๆกันได้ และการนำกล่องมารีไซเคิลกลับมาใช้ซ้ำ นอกจากช่วยลดโลกร้อนแล้วยังเป็นการช่วยลดต้นทุนของเราด้วย สินค้าก็จะมีราคาไม่แพงและสามารถขายได้ปริมาณมากขึ้น” น้องพีระกล่าว
น้องแอมเวย์และน้องนิว กล่าวเสริมว่า ตอนแรกที่ทำเวิร์คช็อบทำเบอเกอร์ ก็งงว่าเรามาค่ายธุรกิจทำไมต้องไปทำอาหารด้วยเหรอ พอลงมือทำเราจึงได้รู้รายละเอียดว่ายากแค่ไหน แล้วถ้ามีลูกจ้างเขาจะรู้สึกยังไงตอนทำเยอะๆ เขาเหนื่อยแค่ไหน จะได้เข้าใจตั้งแต่ระดับต่ำสุดจนถึงจุดสูงสุด แล้วเราจะเข้าใจสินค้ามากที่สุดด้วย ผมชอบค่ายนี้ อาจารย์ทุกคนให้ความรู้แบบไม่มีกั๊กเลยทำให้เรามองภาพต่างๆได้ชัดขึ้น จุดประกายให้เราเกิดความคิดสร้างสรรค์ มีไอเดียดีๆได้
ด้านนางสาวศศิภา อธิสินจงกล อาจารย์วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี (CIBA) หลักสูตรนานาชาติ หนึ่งในทีมพี่เลี้ยง กล่าวว่า ทีมนี้มีจุดเด่น คือ มีกลุ่มเป้าหมายชัดเจน เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับลูกค้า และยังมองเห็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย เช่น เรื่องของขยะ และไม่ใช่คิดแค่จะสร้างเงินให้กับธุรกิจตัวเองอย่างไร แต่ยังคิดช่วยไปถึงธุรกิจของลูกค้าให้มี Brand Value ที่สูงขึ้นด้วย ทีมนี้ไม่ใช่แค่ทำให้ตัวเองมีรายได้ แต่ยังทำให้ลูกค้ามีภาพลักษณ์ที่ดีและส่งผลสังคมดีขึ้นด้วย
แววสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ของทีม อะจ๊วง เห็นมาแต่ไกล น้องๆ คนไหนสนใจกิจกรรมดีๆที่จัดขึ้นทุกปีแบบนี้ ติดตามความเคลื่อนไหวได้ใน Facebook Fanpage : @dpuxyourfuture หรือ website : dpux@dpu.ac.th