สวทช. แถลงความคืบหน้าผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ อาทิ A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล หรือ ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยในการกักตัวที่บ้าน (Home isolation) และที่ชุมชน (Community isolation) พัฒนาโดยนักวิจัยไทย ช่วยลดภาระงานแพทย์-พยาบาล ดูแลผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่ม HI และ CI แบบเบ็ดเสร็จ กว่าล้านราย ขณะที่ ‘หมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ’ เป็นอีกอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สามารถใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพช่วยป้องกันผู้ป่วยติดเชื้อโควิด -19 ในวงจำกัด นอกจากนี้ยังผลักดันนวัตกรรม สเปซ วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดินพร้อมระบบพยุงน้ำหนักฯ เข้าสู่ตลาดภาครัฐ ‘บัญชีนวัตกรรมไทย’ เพื่อให้คนไทยใช้นวัตกรรมไทย ลดการพึ่งพาต่างประเทศ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
(วันที่ 13 มิถุนายน 2565) ณ ห้องแถลงข่าว ชั้น 1 อาคารพระจอมเกล้า สำนักงานปลัดกระทรวง อว. : กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดย ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) พร้อมด้วย ศาสตราจารย์ ดร.ไพรัช ธัชยพงษ์ อดีตปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในฐานะประธาน BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ ดร.ศรัณย์ สัมฤทธิ์เดชขจร ผู้อำนวยการ ศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ (A-MED) ดร.วรรณี ฉินศิริกุล ผู้อำนวยการศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) นพ.สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ร่วมแถลงข่าวผลงานวิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านสุขภาพและการแพทย์ที่ตอบโจทย์ BCG มิติการพึ่งพาตนเองและลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เป็นประธานแถลงข่าวและร่วมแสดงความยินดี โดยมีผู้แทนจากหน่วยงานที่นำนวัตกรรมไปใช้และให้บริการ อาทิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร สภาเภสัชกรรม สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) บริษัทเวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด และบริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด ร่วมงานแถลงข่าว
ศาสตราจารย์ (พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า โมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของ BCG Economy Model ที่ต้องการขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร (Medical Hub) ผลักดันให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในการสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศ เนื่องด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่เดือนธันวาคมปี 2562 การระบาดแพร่กระจายไปอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยหนักและผู้เสียชีวิตจำนวนมากทั่วโลก ทำให้เกิดวิกฤตการขาดแคลนเครื่องมือแพทย์
ทั้งในแง่ของวัสดุ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่ไม่สามารถนำเข้าหรือผลิตได้ทันตามความต้องการในประเทศ ตลอดจนระบบสาธารณสุขของประเทศที่ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ได้อย่างเพียงพอ ปัจจัยเหล่านี้จึงเป็นตัวเร่งความต้องการใช้เครื่องมือแพทย์และนวัตกรรมทางการแพทย์ที่มีเทคโนโลยีขั้นสูงและทันสมัย ซึ่งต้องอาศัยศักยภาพด้านการวิจัยและพัฒนาของบุคลากรภายในประเทศ เพื่อพัฒนาเครื่องมือแพทย์และระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ตอบโจทย์ความต้องการของประเทศ ลดการนำเข้าสามารถพึ่งพาตนเองได้ ตลอดจนสนับสนุนการให้บริการทางการแพทย์ เพื่อยกระดับการให้บริการทางสาธารณสุขของประเทศในการดูแลรักษาคนไทยได้อย่างทันถ่วงที ทั่วถึง และเท่าเทียมลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม
สำหรับการขับเคลื่อนแผนงานดังกล่าว คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG Model สาขาเครื่องมือแพทย์ โดย สวทช. ซึ่งได้พัฒนาผลงาน “A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล : ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยในการกักตัวที่บ้าน (Home isolation) และที่ชุมชน (Community isolation)” และ “หมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ (nSPHERE Pressurized Helmet)” ประกอบกับการร่วมสนับสนุนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ขยายผลการใช้ประโยชน์ผลงาน “สเปซ วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน พร้อมระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน (Space Walker)” นวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัดและส่งเสริมสุขภาพผู้สูงอายุในสังคมสูงวัย ที่ตอบโจทย์ความต้องการรองรับสถานการณ์ด้านสาธารณสุขของประเทศ ถือเป็นความสำเร็จของการวิจัยด้านการแพทย์และสาธารณสุขไทย เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อคนไทยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
“ตอนนี้เรามาถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่แล้ว จากใช้นวัตกรรมต่างประเทศ เปลี่ยนเป็นเราต้องสร้างเอง บริโภคเอง ซึ่งนวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ที่เห็นในวันนี้ ทาง สปสช. มีมาตรการที่จะสนับสนุนนวัตกรรมของไทยเยอะ ทำให้เรากำลังสร้างและเปลี่ยนวิธีคิดของประเทศ ซึ่งนอกจากมีวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมแล้ว เรายังเปลี่ยนให้เป็นผลิตภัณฑ์บริการเพื่อใช้งานและพึ่งพานวัตกรรมเครื่องมือแพทย์ของไทยด้วย โดยในวันนี้ได้เห็นตัวอย่างนวัตกรรมที่เป็นรูปธรรมที่สุดแล้ว ดังนั้นเป้าหมายเราที่อยากจะเป็นชาติวิทยาศาสตร์เราเป็นได้แน่ ๆ หากมีผลิตภัณฑ์และบริการที่อิงอยู่บนวิทยาศาสตร์ฯ ไปต่อได้แน่ๆ และไปได้เร็ว และขอแสดงความยินดีและเป็นให้กำลังใจให้กับ บริษัทเวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด และ บริษัท เมดิคิวบ์ จำกัด และสวทช. เป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีผลงานเป็นที่ภาคภูมิใจของ กระทรวง อว.และจับคู่ทำงานร่วมกับ สปสช. ในการผลักดันเรื่องการสาธารณสุขได้อย่างเหมาะสม เพราะสิ่งที่พวกท่านทำเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ”
อย่างไรก็ตามรัฐบาลได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน โดยเฉพาะการส่งเสริมและป้องกันโรค ซึ่งการพัฒนาระบบบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและเป็นองค์รวม ต้องอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐ และภาคเอกชนในการพัฒนาระบบบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขรวมทั้งอุตสาหกรรมการแพทย์ภายในประเทศที่จะสนับสนุนระบบบริการที่เข้มแข็งร่วมกันมุ่งสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจรอย่างแท้จริง
ดร.ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า
จากสถานการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้นมา ประเทศไทยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพึ่งพาตนเอง การลดความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงเครื่องมือทางการแพทย์ จากการขาดแคลนเครื่องมือทางการแพทย์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ และสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว กระทรวงกระทรวง อว. สวทช. โดยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ ผู้พัฒนาผลงาน A-MED Telehealthแพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล : ระบบสำหรับบริหารจัดการผู้ป่วยในการกักตัวที่บ้าน (Home isolation) และที่ชุมชน (Community isolation) อย่างเป็นระบบ ซึ่งสนับสนุนการทำงานทางการแพทย์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เพื่อรองรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทยในระยะแรก ที่โรงพยาบาลไม่สามารถรองรับผู้ป่วยโควิด-19 ได้เพียงพอ จนถึงการใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพในปัจจุบัน
โดยมีหน่วยบริการที่นำระบบไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่กักตัวอยู่ที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่ ศูนย์บริการสาธารณสุข คลินิกชุมชนอบอุ่น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (รพ.สต.) โรงพยาบาลรัฐและเอกชน รวมถึงร้านยาในเครือข่าย โดยรวมแล้วมากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ มีจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 สะสม ที่ได้รับการดูแลผ่านระบบ A-MED Telehealth แล้วมากกว่า 1,000,000 คน โดยทำงานร่วมกับ สปสช. สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) กรมการแพทย์ สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และ สภาเภสัชกรรม อย่างใกล้ชิด จากประสบการณ์ที่ผ่านมาระบบการดูแลสุขภาพทางไกล (A-MED Telehealth) มีบทบาทสำคัญในการดูแลสุขภาพปฐมภูมิ ซึ่งเป็นการดูแลที่เข้าถึงและใกล้ชิดกับประชาชนมากที่สุด เพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพประชาชนได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม ซึ่งจะนำมาประยุกต์และเสริมสร้างศักยภาพของการดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป เช่น โรคเกี่ยวกับ NCD และอื่นๆ ต่อไปได้ในอนาคต
“ในระยะแรก A-MED Telehealth ช่วยให้แพทย์สื่อสารกับผู้ป่วยได้ผ่านระบบวิดีโอคอล และผู้ป่วยสามารถรายงานข้อมูลอุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือด ความดันโลหิต รวมทั้งการบันทึกอาการทั่วไป เพื่อให้แพทย์ประเมินและให้คำปรึกษาในการรักษารายวัน
ต่อมาได้เกิดเชื้อกลายพันธุ์ที่รุนแรงและแพร่เชื้อได้เร็ว ทำให้ผู้ป่วยรายใหม่กลุ่มสีเหลืองและแดงเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงมีการนำระบบ A-MED Telehealth มาประยุกต์ใช้กับระบบ HI และ CIในการดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว เพื่อลดอัตราครองเตียง มีผู้ป่วยโควิด-19 สะสมที่ได้รับการดูแลผ่านระบบ A-MED Telehealth แล้วมากกว่า 1 ล้านคน ที่สำคัญคือมีความร่วมมือกับ สปสช. ในการเชื่อมโยงข้อมูลด้านหลักฐานการเบิกจ่าย หรือ PreAudit ตรวจสอบให้เสร็จก่อนจะจ่ายเงิน เพื่ออำนวยความสะดวกของหน่วยบริการในการส่งหลักฐานการเบิกจ่าย และร่วมกับ สพร. เชื่อมโยงส่งต่อข้อมูลกับหน่วยงานอื่นๆ ผ่านระบบ DGA RC เพื่อการดูแลผู้ป่วยที่มีอาการทรุดลงและส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลได้ทันท่วงที” ผู้อำนวยการ สวทช. ระบุ
ด้าน นายแพทย์สินชัย ต่อวัฒนกิจกุล รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่แพร่ระบาด แม้จะเป็นภาวะวิกฤติด้านสาธารณสุข แต่ทำให้เกิดการพัฒนานำเทคโนโลยีด้านสุขภาพมาใช้ในระบบบริการสุขภาพอย่างก้าวกระโดด ได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากผู้รับบริการและผู้ให้บริการ โดย A-MED Telehealth แพลตฟอร์มบริการแพทย์ทางไกล ซึ่งเป็นระบบบริหารจัดการข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่แยกกักตัวที่บ้านและการแยกกักตัวในชุมชน เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ สปสช. นำมาใช้เพื่อขยายการบริการเพื่อดูแลผู้ป่วยโควิดสีเขียว
ภายใต้ “โครงการร้านยาดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียวบริการ เจอ-แจก-จบ” ช่วยเพิ่มช่องทางรับบริการโดยเฉพาะที่หน่วยบริการใกล้บ้าน ทำให้เกิดการเข้าถึงบริการที่ดี ซึ่ง สปสช. และสภาเภสัชกรรมมีการเชิญชวนร้านยาที่มีความพร้อมให้บริการร่วมเป็นหน่วยบริการในโครงการนี้ มีร้านยาเข้าร่วมจำนวน 1,063 แห่ง (ข้อมูล ณ 8 มิ.ย. 65) โดยมีการเชื่อมโยงการบริการผ่านระบบ A-MED Telehealth นี้ ด้วยระบบ A-MED Telehealth ทำให้ร้านยาหรือผู้ให้บริการสามารถเห็นข้อมูลผู้ป่วยทั้งหมดได้ เช่น จำนวนวันที่อยู่ในระบบ รายงานอาการ และแบ่งกลุ่มผู้ป่วยตามอาการเพื่อติดตาม หากอาการแย่ลงจะได้ส่งต่อที่โรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เป็นต้น
โดยข้อมูลในระบบ A-MED Telehealth ยังใช้เป็นข้อมูลการเบิกจ่ายค่าบริการได้ อย่างไรก็ตามด้วยศักยภาพของ A-MED Telehealth นี้ เชื่อว่าจะมีการพัฒนาต่อยอดไปสู่การบริการสุขภาพด้านต่างๆ ที่ช่วยเพิ่มความสะดวกในการรับบริการที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน รวมถึงระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
ผู้อำนวยการ สวทช. กล่าวต่อว่า ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สวทช. ยังได้พัฒนาหมวกควบคุมแรงดันบวกและลบ (nSPHERE Pressurized Helmet) เพื่อเป็นอุปกรณ์ส่วนบุคคลที่สามารถใช้เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ ใช้งานสะดวก โดยสามารถป้องกันละอองไอจามและฝุ่นด้วยการกรองที่มีประสิทธิภาพ ร่วมกับการควบคุมแรงดันให้เหมาะกับประเภทของกลุ่มผู้ใช้งาน คือ หมวกแรงดันบวก สำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งมีแรงดันภายในหมวกสูงกว่าภายนอก
และหมวกแรงดันลบ สำหรับผู้ป่วยติดเชื้อ ซึ่งมีแรงดันภายในหมวกต่ำกว่าภายนอก โดยนาโนเทค สวทช. ได้อนุญาตให้บริษัท เวลล์เนส อินโนเวชั่น บียอนด์ จำกัด นำนวัตกรรมนี้ไปผลิตเพื่อต่อยอดเชิงพาณิชย์ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ผ่านมา ทั้งนี้ นาโนเทค สวทช. ได้ส่งมอบหมวกควบคุมแรงดันบวกลบจำนวนมากกว่า 1,000 ใบ ให้แก่โรงพยาบาลมากกว่า 50 แห่งทั่วประเทศ จากการสนับสนุนด้านงบประมาณขององค์กร หน่วยงาน และบริษัทต่างๆ นวัตกรรมนี้ยังถูกนำไปใช้กับผู้ป่วยติดเชื้อที่ต้องเคลื่อนย้าย เข้ารับการรักษา หรือทำหัตถการที่จำเป็น เช่น การฟอกเลือด ฟอกไต เป็นต้น ซึ่งนักวิจัยกำลังมองโอกาสในการต่อยอดไปใช้ให้ยาทางอากาศหรือยาพ่นสูดในอนาคตอีกด้วย
นอกจากนั้นแล้ว มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้พัฒนาผลงาน สเปซ วอล์กเกอร์ อุปกรณ์ช่วยฝึกเดิน พร้อมระบบพยุงน้ำหนักบางส่วน (Space Walker) เป็นอุปกรณ์ช่วยฝึกเดินสำหรับผู้ป่วยหลังกายภาพบำบัดรวมถึงผู้สูงอายุ โดยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการฝึกเดิน ลดภาระการบาดเจ็บของผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เพิ่มประสิทธิภาพการกายภาพบำบัด
ผลงานนี้ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 (Gold Award) จากงาน (i-CREATe 2017) และอีกหลายรางวัลต่อมา จนนักวิจัยสามารถตั้งบริษัทเมดิคิวบ์ จำกัด เพื่อรับถ่ายทอดเทคโนโลยี นำไปผลิตและจำหน่าย ได้ขยายผลการใช้งานเพื่อยกระดับการให้บริการและการดูแลผู้สูงอายุรองรับสังคมสูงวัย ณ ศูนย์พัฒนาการจัดสวัสดิการสังคมผู้สูงอายุ สังกัดกรมกิจการผู้สูงอายุทั่วประเทศ ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา ปัจจุบัน สเปซ วอล์กเกอร์ (Space Walker) ได้รับการพิจารณาจาก สำนักงบประมาณในการขึ้นทะเบียนนวัตกรรมไทย สาขาการแพทย์และสุขภาพ เมื่อเดือน มีนาคม 2565 เพื่อจะได้รับการส่งเสริมในการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐเพื่อให้คนไทยได้ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมที่คนไทยผลิตได้คุณภาพมาตรฐานและลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศต่อไป
อย่างไรก็ตามผลงานเหล่านี้เป็นเพียงบางส่วนของความสำเร็จ ตามนโยบายโมเดลเศรษฐกิจ BCG สาขาเครื่องมือทางการแพทย์ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนให้ประเทศไทยก้าวกระโดดในการพัฒนาด้านการแพทย์เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทย