กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ เดินหน้าพัฒนาศักยภาพศูนย์เคลมค่ารักษานักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ใน รพ.รัฐภาคตะวันตก หวังลดปัญหานักท่องเที่ยวต่างชาติเจ็บป่วยจ่ายเงินไม่ครบ หรือชักดาบเบี้ยวหนี้
วันนี้ (30 เมษายน 2562) ทันตแพทย์อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ
(กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ได้กล่าวภายหลังจากเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อพัฒนาศักยภาพของศูนย์ประสานงานกลาง(Claim center) ในการจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลจากชาวต่างชาติ สำหรับสถานพยาบาลภาครัฐในจังหวัดท่องเที่ยวภาคตะวันตก ซึ่งจัดขึ้น ณ จังหวัดนครปฐม ว่าจากข้อมูลสถิติการท่องเที่ยวในพื้นที่เขตบริการสุขภาพที่ 5 ของชาวต่างชาติในปี 2561 ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามามากกว่า 2 ล้าน 5 แสนคน ข้อมูลดังกล่าวนี้มีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยในเขตบริการสุขภาพที่ 5 มีพื้นที่ชายแดนติดกับสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่าหรือประเทศเมียนมาร์ ประกอบกับมีท่าเรือน้ำลึกทวาย ซึ่งเป็นเส้นทางคมนาคมที่เชื่อมระหว่างประเทศไทยกับประเทศเมียนมาร์ เปรียบดังประตูเศรษฐกิจที่อาจก่อให้เกิดการเดินทางเข้ามาของนักท่องเที่ยวชาติต่างๆเป็นจำนวนมาก ซึ่งนอกจากจำนวนเม็ดเงินที่ประเทศไทยจะได้รับจากการมาท่องเที่ยวแล้ว สิ่งหนึ่งที่ต้องคำนึงถึงคือกรณีที่มีการเข้ารับการรักษาพยาบาลไม่ว่าจะด้วยสาเหตุเพราะปัญหาด้านสุขภาพ หรือประสบอุบัติเหตุก็ตาม ซึ่งโรงพยาบาลรัฐจำเป็นต้องพร้อมรับทั้งด้านบุคลากรที่มีความสามารถด้านการสื่อสาร ด้านการบริการ และที่สำคัญคือการจัดเก็บค่ารักษาพยาบาลที่มีตามสิทธิ์ได้อย่างครบถ้วน
ด้านนางเสาวภา จงกิตติพงศ์ ผู้อำนวยการกองสุขภาพระหว่างประเทศ กล่าวเพิ่มเติมว่า กรม สบส. โดยกองสุขภาพระหว่างประเทศ ได้ยื่นมือเข้ามาเป็นหน่วยงานกลางในการทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ผู้ป่วยชาวต่างชาติหรือญาติทำการชำระค่ารักษาพยาบาลในกรณีที่มีการค้างจ่าย และยังทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงให้แก่หน่วยจัดเก็บค่ารักษา หรือ Claim center ในโรงพยาบาลรัฐ ให้มีศักยภาพในการเรียกเก็บเงินจากแหล่งเงินต่างๆ เช่น เงินประกัน เงินกองทุนต่างๆ เป็นต้น โดยดำเนินการมาแล้วในจังหวัดท่องเที่ยวภาคเหนือ ใต้ อีสาน ตะวันออก และล่าสุดภาคตะวันตก จากการประชุมทำให้ทราบถึงปัญหาและอุปสรรคที่โรงพยาบาลรัฐประสบ ไม่ว่าจะเป็นประเด็นกฎหมายและระเบียบด้านธุรกรรมการเงิน การมอบอำนาจในการทำนิติกรรมสัญญา การกำหนดอัตราค่ารักษาพยาบาลชาวต่างชาติ กำลังคนในการรองรับบริการชาวต่างชาติ เป็นต้น
ซึ่งกรมฯ ได้สรุปปัญหาและอุปสรรคนำเรียนให้ผู้บริหารกระทรวงสาธารณสุขรับทราบ และได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ เพื่อหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวในเชิงนโยบาย โดยจะมีการขยายผลไปยังโรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ