กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม เดินหน้าตรวจสุขภาพผู้ต้องขังในเรือนจำและทัณฑสถาน เช่น การตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี และเอกซเรย์ปอด เป็นต้น โดยจะนำร่องใน 17 แห่ง และขยายการตรวจคัดกรองสุขภาพในทุกเรือนจำทั่วประเทศต่อไป เพื่อคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม ให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่สมบูรณ์ พร้อมออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษ
วันที่ (30 เมษายน 2562) ที่ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง จังหวัดปทุมธานี นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ ร่วมเปิดโครงการ “คืนคนสุขภาพดีสู่สังคม” โดยมีหน่วยงานองค์กรระหว่างประเทศ ได้แก่ UN Office on Drugs and Crime (UNODC) UNAIDS คณะกรรมการกาชาดระหว่างประเทศ สภากาชาดไทย สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ทัณฑสถานวัยหนุ่มกลาง และหน่วยงานในสังกัดกรมควบคุมโรค ร่วมในพิธีเปิดโครงการดังกล่าว
นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่าโครงการ “คืนคนสุขภาพดีสู่สังคม” เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์ ในการเฝ้าระวังสุขภาพในกลุ่มผู้ต้องขังที่จะได้รับการปล่อยตัว สนองพระภารกิจในพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ ที่ทรงตอบรับการกราบทูลเชิญดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีของโครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติด้านการป้องกันเอชไอวีในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (UNAIDS Goodwill Ambassador for HIV prevention in the Asia Pacific Region) และพระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงดำรงตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากสำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Office on Drug and Crime – UNODC) ซึ่งทั้งสองพระองค์ทรงมีพระปณิธานในการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินงานด้านบริการเอชไอวีและด้านอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องในเรือนจำ
กรมควบคุมโรค และกรมราชทัณฑ์ ได้ร่วมกันจัดทำแผนเร่งรัดเพื่อการยุติปัญหาเอดส์ในเรือนจำ โดยมีมาตรการสำคัญ 7 ข้อ ได้แก่ 1.การส่งเสริมการให้ความรู้โดยใช้กลไกเพื่อนช่วยเพื่อนในเรือนจำ เพื่อสร้างเพื่อนช่วยเพื่อน (Peer Educator) 2.การจัดบริการปรึกษาและการตรวจเลือดโดยสมัครใจ 3.การส่งเสริมการเข้าถึงถุงยางอนามัยของผู้ต้องขัง 4.การส่งเสริมการเข้าถึงยาต้านไวรัสเอดส์ของผู้ต้องขังที่ติดเชื้อเอชไอวีและเอดส์ 5.การพัฒนาบริการป้องกันดูแลรักษาแบบครบถ้วนและต่อเนื่อง ในกลุ่มผู้ต้องขัง 6.การพัฒนาระบบการส่งต่อโดยการมีส่วนร่วมขององค์กรภายนอก และ 7.การวิจัยและพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาเอดส์ในเรือนจำ สำหรับกิจกรรมในโครงการนี้ ประกอบด้วย 1.การตรวจโรคทั่วไป 2.การตรวจคัดกรองเอชไอวี ซิฟิลิส ไวรัสตับอักเสบซี และเอกซเรย์ปอด 3.การให้การปรึกษาและคำแนะนำด้านสุขภาพ เช่น การส่งเสริมการกินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี (Pre-Exposure Prophylaxis) และ 4.การจัดนิทรรศการความรู้ด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ได้มีเป้าหมายในการจัดกิจกรรมเปิดตัวโครงการในเรือนจำและทัณฑสถาน รวม 17 แห่ง และเตรียมดำเนินการตรวจคัดกรองสุขภาพในทุกเรือนจำทั่วประเทศ ต่อไป
ด้าน พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า ข้อมูลของกรมราชทัณฑ์ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 386,000 คน ในแต่ละเดือนมีผู้ต้องขังถูกปล่อยตัวประมาณ 3,000 คน มีผู้ต้องขังใหม่ประมาณ 5,000 คน โดยที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ต้องขังเจ็บป่วยด้วยโรคต่างๆ เช่น โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ วัณโรค โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่ามีผู้ต้องขังบางรายเสียชีวิตในเรือนจำ เนื่องจากกลุ่มผู้ต้องขัง เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางทางด้านสุขภาพ ด้วยสภาพของเรือนจำที่เป็นสถานที่ปิด มีผู้ต้องขังอยู่รวมกันจำนวนมาก ทำให้มีความเสี่ยงสูงทางด้านสุขภาพ จึงมีความจำเป็นต้องดูแลคัดกรองสุขภาพผู้ต้องขังทั้งที่อยู่ในเรือนจำและก่อนปล่อยตัว เพื่อเป็นการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค อีกทั้งยังมีผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาพยาบาล ทั้งภายในเรือนจำและไปรักษาตัวในหน่วยบริการภายนอก เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิต ให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพร่างกาย และจิตใจ ที่สมบูรณ์พร้อมออกไปประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองและครอบครัวภายหลังพ้นโทษ เป็นการคืนคนสุขภาพดีสู่สังคม
**************************************************
ข้อมูลจาก: สำนักโรคเอดส์ วัณโรค และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์/สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 30 เมษายน 2562