‘พาณิชย์’ ร่วมเคาะประเด็นสำคัญด้านความเชื่อมโยงทางการค้าใน Belt and Road Forum ครั้งที่ 2

กระทรวงพาณิชย์ เผยผลการติดตามนายกรัฐมนตรี ร่วมการประชุม Belt and Road Forum for International Cooperation ครั้งที่ 2 ชี้ที่ประชุมให้ความสำคัญใน 3 ประเด็น ได้แก่ การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบการค้าพหุภาคี การพัฒนาการค้ารูปแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

นางสาวชุติมา บุณยประภัศร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังกลับจากติดตามพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2562 ณ สาธารณรัฐประชาชนจีน ว่าตนได้เป็นผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมกลุ่มย่อยเรื่อง “ความเชื่อมโยงทางการค้า” ซึ่งเป็นการหารือและอภิปรายร่วมกันระหว่างผู้แทนระดับรัฐมนตรี ผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรระหว่างประเทศ ตลอดจนภาครัฐ และเอกชนจากประเทศต่างๆ ทั้งในภูมิภาคเอเชีย ยุโรป แอฟริกา และละตินอเมริกา พร้อมทั้งได้สรุปประเด็นซึ่งที่ประชุมให้ความสำคัญ ประกอบด้วย

การส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ความร่วมมือทางการค้าระดับทวิภาคี และพหุภาคี ซึ่งที่ประชุมให้ความสำคัญกับการส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะระบบการค้าพหุภาคี ซึ่งปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของหลายประเทศที่อยู่บนเส้นทางหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (BRI) รวมถึงประเทศไทยด้วย โดยจีนได้ทำความตกลง เอฟทีเอเพื่อเปิดเสรีทางการค้ากับประเทศต่างๆ ควบคู่ไปกับความร่วมมือเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โดยมุ่งลดอุปสรรคและอำนวยความสะดวกทางการค้า

การพัฒนาการค้ารูปแบบใหม่ที่ใช้นวัตกรรมเป็นตัวขับเคลื่อน ปัจจุบันเศรษฐกิจดิจิทัล และพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์มีความสำคัญและเติบโตสูงขึ้นทุกปี โดยมีมูลค่าการค้ารวมมากกว่าการค้าสินค้าในรูปแบบดั้งเดิม ซึ่งประเทศบนเส้นทาง BRI ต้องการเห็นความเชื่อมโยงและการอำนวยความสะดวกของกฎระเบียบที่จะส่งเสริมการค้ารูปแบบใหม่ เพื่อลดระยะเวลาและค่าใช้จ่ายในการทำธุรกรรม รวมทั้งให้ทุกภาคส่วนสามารถแบ่งปันผลประโยชน์ร่วมกันอย่างทั่วถึง

การพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน การเติบโตทางการค้าต้องสมดุลและควบคู่ไปกับการพัฒนาที่ยั่งยืน เช่น คำนึงถึงชีวิตความเป็นอยู่และสวัสดิการของแรงงาน การกระจายรายได้เพื่อลดความยากจน และการส่งเสริมการศึกษาเพื่อเพิ่มโอกาสในการจ้างงาน เป็นต้น ซึ่งผู้เข้าร่วมสนใจให้จีนลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเสนอให้ขยายความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจและวิชาการ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและการศึกษาระหว่างประเทศตามแนวเส้นทาง BRI

ทั้งนี้ การค้าระหว่าง ไทย – จีน เติบโตอย่างต่อเนื่องทุกปี ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ที่ครอบคลุมทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันได้ลดภาษีสินค้าระหว่างกันภายใต้ ACFTA เป็นร้อยละ 0 ไปแล้วกว่าร้อยละ 90 ของรายการสินค้า โดยในปี 2561 ผู้ประกอบการไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน–จีน สูงถึงร้อยละ 88.57 ของมูลค่าการค้าที่ได้รับสิทธิประโยชน์ ทำให้ในปี 2561 การค้าสองฝ่ายมีมูลค่า 80,136 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 2.27 ซึ่งไทยและจีนได้ตั้งเป้าหมายการค้าระหว่างกันไว้ที่ 140,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ภายในปี 2564­

—————————————

กระทรวงพาณิชย์ กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ