สช.จัดวงเสวนาแนวทางขับเคลื่อนสิทธิด้านสุขภาพ “เด็ก-เยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ชี้ปัญหาสิทธิ-สถานะ และสาธารณสุข นับเป็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่ ส่งผลกระทบข้ามพรมแดน ย้ำหลักการไทยต้องให้การดูแลทุกคน เสนอตีความหลักประกันสุขภาพแห่งชาติใหม่ ครอบคลุมคนไร้สถานะที่อยู่ในประเทศ
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดเวทีเสวนา มุมมองและทิศทางการพัฒนาและขับเคลื่อน “สิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมการประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น ว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยมีองค์กรหน่วยงานภาคีเครือข่ายผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ ภาคประชาสังคมและเอกชน ด้านเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ เข้าร่วมจำนวนมาก
นายนท เหมินทร์ สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) เปิดเผยว่า มุมมองในมิติด้านความมั่นคงปัจจุบันมีความแตกต่างจากในอดีตค่อนข้างมาก จากเดิมที่จะกังวลต่อการเคลื่อนย้ายข้ามพรมแดนของคนกลุ่มต่างๆ อันมีที่มาจากภาวะความไม่สงบในประเทศเพื่อนบ้าน หรือภัยคอมมิวนิสต์ในอดีต แต่ปัจจุบันมิติของความไร้รัฐไร้สัญชาติได้กลายมาเป็นภัยความมั่นคงรูปแบบใหม่แทน นั่นคือการที่บุคคลหนึ่งอยู่ในสังคมโดยที่คนอื่นไม่รู้จักตัวตน ไม่มีสถานะ ไม่ได้รับการติดตามอย่างถูกกฎหมาย อันส่งผลให้คนเหล่านี้อาจตกกลายเป็นเหยื่อของขบวนการค้ามนุษย์ หรืออาชญากรรมด้านต่างๆ
เช่นเดียวกับสิทธิด้านสุขภาพของกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและเยาวชน ก็เป็นประเด็นที่สังคมโลกให้ความสำคัญ และประเทศไทยก็เป็นส่วนหนึ่งในการเข้าร่วมเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ส่งผลผูกพันให้ต้องไม่เลือกปฏิบัติ แม้ไทยเองจะมีความพยายามต่อเนื่องในการดูแลเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นการจดทะเบียนเกิดที่มีความก้าวหน้ามากขึ้น การศึกษาที่ให้สำหรับทุกคน แต่ในเรื่องของสุขภาพอาจเป็นจุดสำคัญที่ยังเติมเต็มให้มากขึ้นกว่านี้ได้
“อย่างปัญหาที่เห็นชัด คือเรื่องค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล ซึ่งเราอาจต้องมีแนวนโยบายที่ชัดเจนในการแก้ไข เช่น จะรวมกลุ่มเด็กไร้รัฐไร้สัญชาติเข้าไปอยู่ในกระบวนการหลักประกันสุขภาพอย่างไร หรือจะไปทำเรื่องของการผ่อนผัน การเบิกจ่ายของหน่วยบริการเพื่อดูแลเด็กเหล่านี้ได้อย่างไร เพราะนี่เป็นช่องว่างใหญ่ที่ยังต้องเร่งแก้ปัญหา” นายนท กล่าว
นพ.วรวิทย์ ตันติวัฒนทรัพย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอุ้มผาง จ.ตาก กล่าวว่า ภัยความมั่นคงปัจจุบันคือเรื่องของปัญหาสุขภาพและสาธารณสุข ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือเรื่องของโรคระบาด โดยใน จ.ตาก มีความไม่มั่นคงของพื้นที่เยอะมาก เพราะไม่เพียงแต่โควิด-19 แต่ยังมีโรคติดเชื้ออื่นๆ เช่น มาลาเรีย ซึ่งปัญหาเหล่านี้จะต้องแก้ด้วยหลักประกันสุขภาพ ที่จะช่วยทำให้ทุกคนสบายใจและมั่นใจว่าจะสามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้ โดยที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายมหาศาล
“อย่างโรคมาลาเรีย ถ้าชาวบ้านฝั่งตรงข้ามไม่ดูแล ยุงก็บินข้ามพรมแดนมากัดคนไทย ทำให้การแพร่ระบาดเกิดซ้ำได้อีก หรืออย่างวัณโรคก็แพร่ได้ตามอากาศ ลมพัดไปมา ฉะนั้นการดูแลด้านสาธารณสุข เหตุผลหนึ่งนอกจากด้านมนุษยธรรมแล้ว อีกส่วนยังเป็นการควบคุมโรคติดต่อ ตัวอย่างชัดเจนคือโควิด-19 ที่เราควบคุมได้ ก็ด้วยนโยบายที่ช่วยทุกคนจริง ไม่ว่าใครก็รักษา หรือแม้กระทั่งข้ามไปฉีดวัคซีนให้” นพ.วรวิทย์ กล่าว
ขณะที่ นายสุรพงษ์ กองจันทึก ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม กล่าวว่า สิทธิด้านสุขภาพและความมั่นคงของชาตินั้นถือเป็นเรื่องเดียวกัน ซึ่งมุมมองของรัฐบาลสมัยก่อน มักมีนโยบายที่บอกว่าจะให้ความสมดุลระหว่างสิทธิมนุษยชน กับความมั่นคงของชาติ แต่ปัจจุบันใช้มุมมองแบบนี้ไม่ได้ เพราะเมื่อมองดูทั่วโลกแล้วจะพบว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องเดียวกัน อย่างสหรัฐอเมริกา มีการให้สิทธิมนุษยชนที่ดี และมีความมั่นคงที่ดี ในขณะที่เพื่อนบ้านของเราบางประเทศ มีสิทธิมนุษยชนไม่ดี และความมั่นคงก็ไม่ดีทั้งคู่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า แนวคิดของทั่วโลกขณะนี้ คือมนุษย์ทุกคนจะต้องมีอย่างน้อยหนึ่งรัฐเข้ามาให้การดูแล หรือที่เรียกว่าสัญชาติ ซึ่งตามหลักการที่เขียนไว้ในกฎหมายระหว่างประเทศ คือคนไร้สัญชาติจะต้องไม่มีบนโลก อย่างไรก็ตามเรายังคงพบว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีรัฐคุ้มครองดูแล และไม่มีใครช่วยเหลือ เช่นเดียวกับในไทยเองที่ยังมีคนที่อยู่ระหว่างกระบวนการพิสูจน์อีกจำนวนมาก ซึ่งหากเขาไม่มีรัฐอื่นดูแล และเขาก็อยู่ในไทย เราก็จะต้องให้การดูแลในสิทธิขั้นพื้นฐานได้
“ปัจจุบันเรามีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เป็นสิทธิพื้นฐานที่รัฐให้กับประชาชนไทย ซึ่งเป็นเรื่องที่ก้าวหน้ามาไกลจากในอดีตที่การรักษาพยาบาลของคนไทยเองยังเข้าถึงได้ยาก อย่างไรก็ตามในการตีความว่าสิทธินี้ให้เฉพาะคนไทย จึงกลายเป็นปัญหาทำให้คนที่ไม่มีสัญชาติเข้าถึงไม่ได้ ฉะนั้นสิ่งที่อาจแก้ไขต่อไปคือการตีความกฎหมายขึ้นมาให้ครอบคลุมถึงกลุ่มคนเหล่านี้ ก็จะช่วยให้พวกเขาได้รับสิทธิเหมือนคนไทยได้” นายสุรพงษ์ กล่าว
ด้าน นพ.สุรชัย คำภักดี รองผู้อำนวยการกองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวว่า บทบาทของ สธ. ต้องการทำให้ทุกคนในประเทศไทยมีสุขภาวะที่ดี ซึ่งการรอให้บุคคลนั้นได้รับสิทธิทางสัญชาติสมบูรณ์เรียบร้อยก่อนอาจไม่ทันการ จึงมีในเรื่องของการให้บริการก่อนมีสิทธิ ซึ่งคิดเป็นภาระงบประมาณประมาณปีละ 40 ล้านบาทต่อโรงพยาบาล เมื่อรวมกันทั้งประเทศจึงเป็นงบประมาณที่ค่อนข้างมาก จึงต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้ทุกคนได้รับการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ และสามารถดูแลในเชิงระบบได้
อนึ่ง ภายในที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ดังกล่าว ภาคีทุกภาคส่วนได้มีการให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) มติสมัชชาสุขภาพฯ ซึ่งเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพในกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ ให้ได้รับสิทธิประโยชน์บริการสุขภาพขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ เท่าเทียม และทั่วถึง ตามหลักการของสิทธิมนุษยชนและอนุสัญญาระหว่างประเทศ โดยภายหลังจากนี้ (ร่าง) มติฯ จะถูกเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนต่อไป