แนวโน้มบรรดาธนาคารกลางอาจเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ย เพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันตลาดการเงินในช่วงนี้ โดยล่าสุด ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ได้ส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมเดือนกรกฎาคม 0.25% และหากแนวโน้มเงินเฟ้อระยะกลางเร่งตัวขึ้นจากที่คาดการณ์ไว้ ECB ก็พร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายน นอกจากนี้ ECB ยังได้ประกาศเตรียมยุติโครงการซื้อสินทรัพย์หรือคิวอี (Asset Purchase Program: APP) ในเดือนนี้ ซึ่งแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นมากของ ECB ได้กดดันให้ในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ย่อตัวลงต่อเนื่อง -1.36% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดก็ยังคงกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด หากรายงานเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ ยังคงอยู่ในระดับสูงและมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งความกังวลปัญหาเงินเฟ้อและการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.06% กดดันให้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ต่างปรับตัวลดลง นำโดยดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq -2.75% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลง -2.38%
ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางหลัก ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดต่างลดการถือครองพันธบัตรระยะยาวลง ทำให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ส่วนใหญ่ ต่างปรับตัวสูงขึ้น อาทิ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นกลับสู่ระดับ 3.06% ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดบอนด์ยังคงเผชิญความผันผวน จนกว่าตลาดจะมั่นใจแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมถึงทิศทางการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องรอลุ้นรายงานเงินเฟ้อ CPI ในวันนี้ และรอติดตาม Dot Plot ใหม่จากการประชุมเฟดเดือนมิถุนายน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 103.3 จุด ตามการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจปรับตัวขึ้นต่อและหนุนโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าลงของเงินยูโร (EUR) ที่พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่อง สู่ระดับ 1.06 ดอลลาร์ต่อยูโร สวนทางกับที่เราคาดการณ์ไว้ แม้ว่า ECB จะส่งสัญญาณพร้อมขึ้นดอกเบี้ยอย่างชัดเจน แต่ ECB ก็ได้ปรับลดคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจลงพอสมควร พร้อมปรับเพิ่มประมาณการเงินเฟ้อขึ้นมาก ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังคงกังวลภาพเศรษฐกิจยุโรปและมองว่าความเสี่ยง Stagflation (เศรษฐกิจชะลอ บนภาวะเงินเฟ้อสูง) เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ พร้อมกับการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังคงกดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงสู่ระดับ 1,848 ดอลลาร์ต่อออนซ์
สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ รายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI ของสหรัฐฯ โดยตลาดประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป CPI เดือนพฤษภาคม อาจเร่งขึ้น 0.8% จากเดือนก่อนหน้า (+8.3%y/y) หนุนโดยการเร่งขึ้นของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมถึงราคาสินค้าในภาคการบริการและค่าเช่าบ้านที่ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งการเร่งขึ้นของอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอย่างต่อเนื่อง อาจสะท้อนว่า เฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง หรือ เฟดสามารถขึ้นดอกเบี้ย 0.50% ในการประชุมเดือนกันยายนรวมถึงการประชุมหลังจากนั้นได้ ซึ่งความไม่แน่นอนของทิศทางดอกเบี้ยนโยบายเฟดอาจกดดันให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดอาจมีความชัดเจนมากขึ้น หลังเฟดเปิดเผย Dot Plot ใหม่ในการประชุมเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้ อนึ่ง ความกังวลต่อแนวโน้มเศรษฐกิจจากปัญหาเงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด จะกดดันให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยมหาวิทยาลัยมิชิแกน (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนมิถุนายน ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 58 จุด จาก 58.4 จุด ในเดือนก่อนหน้า
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าทดสอบแนวต้านในโซน 34.70-34.80 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์อยู่ โดยแรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็น ความกังวลเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยที่หนุนให้เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้น ซึ่งต้องรอติดตามรายงานข้อมูลเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ ในวันนี้อย่างใกล้ชิด เพราะหาก เงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนหน้ามากกว่าคาด ก็อาจทำให้ผู้เล่นในตลาดเพิ่มความคาดหวังการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงของเฟด นอกจากนี้ เงินบาทก็อาจเผชิญแรงกดดันใหม่ หลังจากที่มีรายงานว่า ทางการจีนได้ใช้มาตรการ Lockdown เพื่อควบคุมการระบาดในบางพื้นที่ของนครเซี่ยงไฮ้ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจกดดันบรรยากาศการลงทุนสินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia ได้
ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.55-34.75 บาท/ดอลลาร์
________________________________________
พูน พานิชพิบูลย์
นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน
Krungthai GLOBAL MARKETS
ธนาคารกรุงไทย