กระทรวงยุติธรรม จัดประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญ

วันที่ (วันที่ 29 เม.ย. 2562) ณ ห้องประชุมกระทรวงยุติธรรม 1 ชั้น 9 พลอากาศเอกประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ให้เกียรติเป็นประธานในการประชุมคณะกรรมการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสาบสูญครั้งที่ 1/2562 โดยมี ศาสตราจารย์พิเศษ วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม พร้อมด้วย นายสมณ์ พรหมรส อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ พ.ต.อ. ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ นางสาวเอมอร เสียงใหญ่ รองอธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ คณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กรมสอบสวนคดีพิเศษ และผู้แทนหน่วยงานต่างๆ ที่เป็นคณะกรรมการฯ เข้าร่วม อาทิ สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงาน ปปช. สำนักงาน ปปท. สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงกลาโหม กอ. รมน. กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข เป็นต้น

ที่ประชุมได้ร่วมกันรับฟังและพิจารณาผลการดำเนินการประจำปี 2562 (ช่วงครึ่งปีแรก) และแผนการดำเนินงานประจำปี 2562 (ช่วงครึ่งปีหลัง) ของคณะอนุกรรมการภายใต้คณะกรรมการฯ ซึ่งประกอบด้วยอนุกรรมการคัดกรองฯ อนุกรรมการติดตามและตรวจสอบฯ อนุกรรมการเยียวยาฯ และอนุกรรมการป้องกันฯ กรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้หายสายสูญ ทั้งนี้ ผลการดำเนินงานที่สำคัญ ประกอบด้วย การติดตามคดีบุคคลที่ถูกบังคับให้สูญหายเพื่อเสนอขอถอดถอนชื่อออกจากบัญชีรายชื่อบุคคลสูญหายของคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการหายสาบสูญโดยถูกบังคับ หรือ ไม่สมัครใจ (UN Working Group on Enforced or Involuntary Disappearances: UNWGEID) การจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ รวมทั้งติดตาม ตรวจสอบกรณีถูกกระทำทรมาน และถูกบังคับให้สูญหาย การพัฒนาระบบจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ฯ การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากกรณีถูกกระทำทรมานและถูกบังคับให้สูญหาย การลงพื้นที่เผยแพร่ความรู้แก่เจ้าหน้าที่รัฐเกี่ยวกับอนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ (CAT) อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการบังคับให้หายสาบสูญ (ICPPED) และกลไกการจัดการเรื่องราวร้องทุกข์ฯ การจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์/วีดิทัศน์ ฯลฯ สำหรับแผนการดำเนินงานประจำปี 2562 (ครึ่งปีหลัง) ประกอบด้วย การติดตาม ค้นหา และเยียวยาบุคคลสูญหายตามรายชื่อของสหประชาชาติฯ อย่างต่อเนื่อง และการจัดฝึกอบรมวิทยากร และจัดทำ E-learning สำหรับอนุสัญญา CAT และ ICPPED รวมทั้งร่วมกับภาคีเครือข่ายในการจัดทำคู่มือป้องกันการทรมานฯ และอบรมเทคนิคการสืบสวนสอบสวนรูปแบบใหม่ให้กับกลุ่มเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย เป็นต้น

นอกจากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้น คณะกรรมการฯ ยังได้ร่วมกันพิจารณาถึง (1) ความเหมาะสมในการรับรองการเยือนของคณะทำงานสหประชาชาติฯ (UNWGEID) (2) ร่างรายงานประเทศตามพันธกรณีภายใต้อนุสัญญาต่อต้านการทรมานฯ ฉบับที่ 2 (3) การแก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบคณะอนุกรรมการคัดกรองฯ จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อให้รวมถึงยุติธรรมจังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และจังหวัดนราธิวาส ด้วย

ทั้งนี้ กรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ จะได้รวบรวมและประมวลข้อมูล ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะที่ได้จากที่ประชุมคณะกรรมการฯ และประสานการดำเนินงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิดต่อไป