สช.จัดเวทีสมัชชาสุขภาพฯ ว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ “กลุ่มแรงงานข้ามชาติ-เด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ” ภาคีทุกภาคส่วนร่วมเคาะฉันทมติ สู่การเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย มุ่งพัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มีเสถียรภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม ปรับปรุงการรับรองการเกิด-รับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนในไทย
เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2565 สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) จัดประชุมสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และ สมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ โดยที่ประชุมสมัชชาสุขภาพฯ ได้ร่วมกันให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) มติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งสองประเด็น ที่มีสาระสำคัญเพื่อให้การคุ้มครองสิทธิด้านสุขภาพในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ด้วยการมีหลักประกันสุขภาพที่เข้าถึง ได้รับบริการขั้นพื้นฐานที่มีคุณภาพ เท่าเทียม เป็นธรรม โดยไม่ถูกเลือกปฏิบัติ พร้อมให้มีการกำหนดนโยบายสาธารณะและมาตรการสนับสนุนด้านต่างๆ ที่ชัดเจน รวมทั้งบูรณาการในแผนพัฒนาประเทศ
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยว่า สุขภาพเป็นเรื่องของทุกคนในสังคม ซึ่งผู้ที่ทำงานในด้านสาธารณสุขเองก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ที่ล้วนมีบทบาท ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรค รวมถึงการดูแลซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกันกับบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยที่อยู่ในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นแรงงานข้ามชาติ คนไร้รัฐไร้สัญชาติ ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก เยาวชน รวมถึงคนที่อยู่ระหว่างพิสูจน์สถานะทางทะเบียนราษฎร์
“จากโควิด-19 ให้บทเรียนที่สำคัญกับเราว่าโรคติดต่อไม่เลือกเชื้อชาติ สัญชาติ เพศ วัย ดังนั้นการดูแลสุขภาพของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย จึงเป็นมาตรการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นเพื่อการดูแลสุขภาพคนไทยทุกคน ดังคำกล่าวที่ว่า no one safe until everyone is safe ซึ่งมติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้งสองประเด็นนี้ ถือเป็นการสร้างความเสมอภาคด้านสุขภาพ ที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อความมั่นคงในระบบสุขภาพของประเทศ และมุ่งสู่สังคมไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ดร.สาธิต กล่าว
นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า กลุ่มแรงงานข้ามชาติ รวมไปถึงกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ จัดเป็นประชากรกลุ่มที่มีความจำเพาะในเรื่องสุขภาพ ซึ่งต้องได้รับการสร้างเสริมและคุ้มครองอย่างสอดคล้องและเหมาะสม ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550 มาตรา 6 ทาง สช.และภาคีเครือข่าย จึงได้จัดสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็น อันเป็นกระบวนการที่ให้ทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานรัฐ ภาควิชาการ รวมทั้งภาคประชาชน ได้มาร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้และระดมแนวทาง ที่นำไปสู่การจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบาย เพื่อขับเคลื่อนในเรื่องดังกล่าวต่อไป
นายชาญเชาวน์ กล่าวว่า สถานการณ์การย้ายถิ่นฐาน เป็นปรากฎการณ์ร่วมในโลก ซึ่งไทยเองเป็นหนึ่งในประเทศที่มีประชากรข้ามชาติเข้ามามากที่สุดในอาเซียน โดยตัวเลขจากปี 2561 ไทยมีแรงงานข้ามชาติราว 3.9 ล้านคน หรือคิดเป็น 10% ของแรงงานทั้งหมดในประเทศ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นแรงงานที่ไม่มีเอกสารถึงกว่า 1.8 ล้านคน หรือราว 41% โดยปัญหาของแรงงานข้ามชาติ กลุ่มที่มีประกันสุขภาพ ก็เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ ส่วนกลุ่มที่ไม่มีประกันสุขภาพ ก็เกิดค่าใช้จ่ายบริการสุขภาพที่เรียกเก็บไม่ได้ เป็นต้น
ทั้งนี้ สาระสำคัญของ (ร่าง) มติสมัชชาสุขภาพเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จะมุ่งเน้นไปที่การบูรณาการแรงงานข้ามชาติเข้าสู่นโยบายพัฒนาประเทศ พัฒนาหลักประกันสุขภาพที่มีเสถียรภาพครอบคลุมแรงงานข้ามชาติทุกกลุ่ม โดยคำนึงถึงระยะเวลาในการพำนักอยู่ในประเทศไทยและระดับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงพัฒนาหน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิกระจายตัวครอบคลุมกลุ่มแรงงานข้ามชาติ จัดบริการเชิงรุกมุ่งส่งเสริมป้องกันโรคและสร้างความรอบรู้ทางสุขภาพ ตลอดจนพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ และเผยแพร่สร้างความตระหนักรู้ในเรื่องดังกล่าว
ขณะที่ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ ประธานคณะกรรมการพัฒนานโยบายสาธารณะสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ กล่าวว่า ปัญหาเรื่องของสัญชาติหรือสถานะทางบุคคล ทำให้คนที่อยู่ในประเทศไทยกลุ่มหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงบริการด้านต่างๆ ได้เหมือนกับคนทั่วไป แม้ประเทศไทยจะให้คำมั่นและลงนามในอนุสัญญาต่างๆ เพื่อคุ้มครองสิทธิเด็กที่จะได้รับการจดทะเบียนทันทีหลังการเกิด และสิทธิที่จะได้สัญชาติ แต่ปัจจุบันยังคงมีเด็กจำนวนหนึ่งที่ไม่มีหลักฐานทางทะเบียนราษฎรหรือไม่มีสัญชาติไทย ซึ่งเฉพาะในฐานข้อมูลระบบ G Code ของกระทรวงศึกษาธิการ มีจำนวนกว่า 1 แสนคน โดยกลุ่มเด็กและเยาวชนที่ตกหล่นจากการสำรวจ หรือไม่ได้รับการพิสูจน์เหล่านี้ ก็จะไม่สามารถเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพในการรักษาพยาบาลได้
สำหรับ (ร่าง) มติสมัชชาเฉพาะประเด็นว่าด้วยการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพกลุ่มเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติ มุ่งเน้นการพัฒนาและปรับปรุงการรับรองการเกิด เพื่อรับรองสิทธิในสัญชาติของเด็กและเยาวชนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย ให้เป็นไปตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด ขยายโอกาสการเข้าถึง และขั้นตอนที่คำนึงถึงข้อบัญญัติตาม พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ.2558 ปรับปรุง พัฒนาบริการสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ทางการแพทย์ และส่งเสริมการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพ ให้เด็กได้รับการคุ้มครองทางสุขภาพและสังคมโดยไม่เลือกปฏิบัติ ตลอดจนการพัฒนาฐานข้อมูล องค์ความรู้ เผยแพร่สร้างความตระหนักรู้ และความเข้าใจในเรื่องดังกล่าว
ด้าน นพ.ประทีป ธนกิจเจริญ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า ในส่วนของ (ร่าง) ข้อเสนอเชิงนโยบายฯ ทั้ง 2 ประเด็นดังกล่าว ได้ผ่านกระบวนการพัฒนาจากข้อมูลทางวิชาการที่รอบด้าน การจัดรับฟังความคิดเห็นในหลายเวที ซึ่งดำเนินมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 2564 จนได้ออกมาเป็นร่างข้อเสนอที่เข้าสู่การพิจารณาในวันนี้ เพื่อให้ภาคีสมัชชาสุขภาพได้ร่วมกันให้ฉันทมติและรับรองข้อเสนอเชิงนโยบายนี้ ที่จะนำไปสู่การขับเคลื่อนอย่างเป็นรูปธรรมได้ต่อไป
นพ.ประทีป กล่าวว่า ภายหลังจากที่ได้รับฉันทมติในวันนี้ ทางคณะกรรมการพัฒนานโยบายฯ และ สช. จะนำเอามติที่ผ่านการปรับปรุงจนสมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว เสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (คสช.) ในช่วงเดือน ก.ค. 2565 และเมื่อ คสช. ให้ความเห็นชอบ มติสมัชชาสุขภาพฯ ทั้ง 2 ประเด็นนี้ก็จะถูกเสนอเข้าสู่คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อพิจารณาและมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปขับเคลื่อนต่อไป