กรมควบคุมโรค จับมือ US CDC เล็งตั้งศูนย์กลางการวิจัยในไทย ชื่นชมประเทศไทย ใช้ความเข้มแข็งทางระบาดวิทยาภาคสนามรับมือโควิด 19 อย่างมีประสิทธิภาพ

กรมควบคุมโรค จับมือศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา หรือ US CDC เล็งตั้งศูนย์กลางการวิจัยในไทย ต่อยอดการใช้ประโยชน์ในระดับภูมิภาค ด้านผู้เเทนสหรัฐฯ ชื่นชมหลักสูตรพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม สร้างเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญเเล้วกว่า 200 คน เสริมความมั่นคงสุขภาพของภูมิภาคจัดการโควิด 19 ได้สำเร็จ

เมื่อวันที่ (7 มิถุนายน 2565) นายเเพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วยนายเเพทย์โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค นายเเพทย์วิชาญ ปาวัน ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป เเละผู้เเทนสำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ หารือคณะผู้บริหารจากศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (Centers for Disease Control and Prevention: CDC) นำโดย Dr. Deb Houry รักษาการรองผู้อำนวยการ CDC ในเรื่องยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคที่จะดำเนินการและการจัดตั้ง Research hub ในประเทศไทยเพื่อรองรับการขยายผลใช้ประโยชน์งานวิจัย ตลอดจนยกระดับการป้องกันโรคทั้งในระดับประเทศเเละภูมิภาค หลังเคยหารือไว้ก่อนหน้านี้

นายเเพทย์โอภาส กล่าวว่า กรมควบคุมโรคเเละ US CDC มีความร่วมมือเป็นเวลานานกว่า 4 ทศวรรษ ภายหลังการระบาดของโรคติดต่ออุบัติใหม่เเละการเพิ่มขึ้นของภัยสุขภาพ ทาง US CDC ได้พัฒนายุทธศาสตร์ด้านการวิจัยเเละต่อยอดมากขึ้น โดยเล็งตั้งศูนย์กลางการวิจัยในประเทศไทย เพื่อพัฒนาความร่วมมือภายในภูมิภาค และนำผลการวิจัยไปต่อยอดตามประเทศต่างๆ ในภูมิภาคอาเซียน

ในโอกาสที่ประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพในการจัดตั้งสำนักงานเลขาธิการศูนย์อาเซียนด้านการรับมือกับภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและโรคอุบัติใหม่ (ACPHEED) ซึ่งจะเปิดตัวในเดือนสิงหาคม 2565 ซึ่งประเทศไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย จะเป็นศูนย์กลางด้านการป้องกันการตรวจจับในภูมิภาค โดย US CDC ยินดีสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญด้านการดื้อยาของเชื้อจุลชีพ การพัฒนากำลังคน และการทำงานด้วยแนวคิดสุขภาพหนึ่งเดียว (One Health) พร้อมเชื่อมโยงกับการดำเนินงานวาระความมั่นคงด้านสุขภาพโลก (Global Health Security Agenda : GHSA) ที่ไทยเป็นประธานในปีที่ผ่านมา และปัจจุบันเป็นคณะกรรมการถาวร ทำให้มีโอกาสร่วมผลักดันนโยบายความมั่นคงทางสุขภาพในระดับโลก

“ที่ผ่านมา US CDC ได้สนับสนุนเทคนิคเเละแหล่งทุนในโครงการสำคัญต่างๆ โดยเฉพาะโครงการพัฒนากำลังคนด้านระบาดวิทยาภาคสนาม (FETP) ที่ได้พัฒนาและขยายเครือข่ายทั้งในและนอกประเทศมาตลอด 42 ปี มีเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญรวมกว่า 200 คน สะท้อนขีดความสามารถของประเทศด้านป้องกัน ควบคุมและตอบโต้โรคและภัยสุขภาพ เห็นได้จากความสำเร็จของประเทศไทยในการจัดการกับการระบาดใหญ่ของโรคโควิด 19 ได้สำเร็จจนเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ ” นายเเพทย์โอภาส กล่าว

**********************************
ข้อมูลจาก : สำนักงานความร่วมมือระหว่างประเทศ กรมควบคุมโรค
วันที่ 9 มิถุนายน 2565