คณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการปลดล็อกกัญชากัญชง #ใช้กัญชาอย่างเข้าใจ

วันที่ 8 มิถุนายน 2565 คณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ นำโดย นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา และ นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกันแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีการปลดล็อกกัญชากัญชง #ใช้กัญชาอย่างเข้าใจ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 นี้

นพ.มล.สมชาย จักรพันธุ์ ประธานที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ตามที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 2565 ทำให้ทุกส่วนของกัญชากัญชงไม่เป็นยาเสพติด ยกเว้นสารสกัดที่มีสาร THC เกิน 0.2% โดยน้ำหนักที่ยังคงเป็นยาเสพติด

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เน้นย้ำถึงนโยบายที่รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุขผลักดันมาตลอด คือการนำกัญชา กัญชง มาใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ การดูแลสุขภาพ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ สร้างรายได้ให้ให้แก่ประชาชน โดยไม่มีการสนับสนุนให้ใช้กัญชากัญชงในทางที่ไม่เหมาะสม สำหรับการกระตุ้นเศรษฐกิจนั้นทางกระทรวงสาธารณสุขได้มีการอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีส่วนประกอบของกัญชากัญชงและสารสกัด CBD เช่น เครื่องสำอาง ผลิตภัณฑ์อาหาร ผลิตภัณฑ์สมุนไพรและตำรับยาไทย มากถึง 1,181 รายการ

โดยผลการวิจัยของธนาคารกรุงศรีอยุธยาเมื่อปี 2564 คาดว่าในปี 2569 ตลาดกัญชงจะเจริญเติบโตและมีมูลค่ามากถึง 15,000 ล้านบาท และอาจจะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้มากกว่านี้ เนื่องด้วยมีการประเมินมูลค่าตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายทั่วโลกมีมูลค่ากว่า 500,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตมากกว่าร้อยละ 17 โดยกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพสร้างรายได้ถึงร้อยละ 70 ของมูลค่าทั้งหมด ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการสื่อสารและประชาสัมพันธ์การใช้กัญชาอย่างเข้าใจ เพื่อร่วมกันสื่อสารทำความเข้าใจการใช้กัญชากัญชงที่ถูกต้องกับประชาชน

นพ. เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุขมีนโยบายสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากกัญชา กัญชง โดยมีเป้าหมายหลักเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ ลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ ส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย โดยได้นำตำรับยากัญชาบรรจุในบัญชียาหลักแห่งชาติแล้ว 8 ตำรับ นอกจากนั้นกัญชายังสามารถนำมาต่อยอดในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ทำให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจและอุตสาหกรรม รวมถึงเพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการดูแลสุขภาพของตนเอง ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 พืชกัญชากัญชงไม่ใช่ยาเสพติดอีกต่อไป ถือเป็นการเปิดประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของกัญชากัญชงในประเทศไทย และเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจ เพื่อให้ก้าวไปด้วยกันอย่างถูกต้องว่า ประชาชนจะสามารถปลูกพืชกัญชากัญชง เพื่อประโยชน์ในการรักษาและดูแลสุขภาพ และเมื่อปลูกแล้วยังสามารถแสดงตนด้วยการจดแจ้งผ่านระบบแอปฯ ปลูกกัญของ อย. ได้ด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงสาธารณสุขเองได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับในเรื่องผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประชาชนในการนำกัญชากัญชงไปใช้ในทางที่ไม่เหมาะสม เช่น ห้ามจำหน่ายให้ใช้ในสตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี การออกประกาศกำหนดให้กลิ่นควันกัญชากัญชงเป็นเหตุรำคาญ นโยบายนี้ไม่ครอบคลุมถึงการสูบหรือการบริโภคเพื่อความบันเทิงหรือนันทนาการ เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข

นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้ที่ต้องการปลูกกัญชา กัญชง สามารถปลูกได้โดยไม่ต้องขออนุญาต แต่จะต้องมีการจดแจ้งผ่านแอปพลิเคชันและเว็บไซต์ ปลูกกัญ ของ อย. ที่จัดทำขึ้นและสามารถถอนการจดแจ้งได้เมื่อพบการกระทำความผิดที่ไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งนี้ การจดแจ้งแอปพลิเคชันปลูกกัญนั้นเป็นไปเพื่อรักษาสิทธิของผู้ปลูกก่อนที่ พ.ร.บ.กัญชากัญชงจะประกาศบังคับใช้ โดยแจ้งตามวัตถุประสงค์การปลูก ซึ่งการปลดล็อกนี้จะทำให้ประชาชนสามารถปลูกเพื่อดูแลสุขภาพของตนเองและใช้ในครัวเรือน เพื่อนำไปใช้ในการปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของกรณีที่เป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน และเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์หรือในทางอุตสาหกรรมได้

ซึ่งขณะนี้ มีผู้ลงเบียนเพื่อขอจดแจ้งแล้วเกือบแสนราย สำหรับการผลิตแปรรูปส่วนอื่น ๆ ของพืชกัญชากัญชง เช่น ใบ ช่อดอก กิ่งก้าน ราก ไม่ต้องขออนุญาตยาเสพติด ส่วนสารสกัดถ้ามี THC เกิน 0.2% ถือเป็นยาเสพติด ทั้งนี้ ผลิตภัณฑ์ที่มีพืชกัญชากัญชง หรือสารสกัดกัญชากัญชง เป็นส่วนประกอบ เช่น ผลิตภัณฑ์สมุนไพร อาหาร เครื่องสำอาง ให้ขออนุญาตตามกฎหมายผลิตภัณฑ์นั้น ๆ เช่น ยาน้ำมันกัญชา ยาแผนไทยที่มีใบ ช่อดอก ราก ฯลฯ เป็นส่วนผสม ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร กรณีเป็นแพทย์แผนไทย แพทย์แผนไทยประยุกต์ และหมอพื้นบ้าน หากจะใช้กัญชากัญชง ไปปรุงยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะราย ได้รับการยกเว้นตาม พ.ร.บ. ผลิตภัณฑ์สมุนไพร ให้ทำได้ตามการประกอบวิชาชีพโดยไม่ต้องขอใบอนุญาตผลิต หากมีข้อสงสัยเรื่องการปลูกการสกัด หรือการขออนุญาตผลิตผลิตภัณฑ์ให้สอบถามเพิ่มเติมโทร 1556 กด 3 หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น ๆ

นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า ต้องการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจทั้งประโยชน์และข้อควรระวังมากขึ้น และทำความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องในสังคม รวมถึงการประเมินติดตามสถานการณ์ให้ประชาชนใช้กัญชาอย่างถูกต้องอย่างเข้าใจ การรับฟังความคิดเห็นของประชาชนมีความสำคัญ เพื่อปรับปรุงข้อห่วงใยในช่วงรอยต่อนี้ แม้กัญชาจะไม่ได้อยู่ในฐานะของยาเสพติดแล้ว แต่กระทรวงสาธารณสุขก็ได้มีการเตรียมความรู้และมาตรการมากกว่าช่วงนิรโทษกรรมกัญชาเมื่อปี 2562 ที่สามารถดำเนินการเปลี่ยนผ่านได้โดยไม่เกิดปัญหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตามมีคำแนะนำว่าในช่วงการเปลี่ยนผ่านในระหว่างรอ พ.ร.บ.กัญชา กัญชง การปลูกทั้งหมดควรทำการจดแจ้งในแอปพลิเคชัน ปลูกกัญ ของ อ.ย. เพื่อรักษาสิทธิของแต่ละคนในอนาคตหลัง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง ประกาศบังคับใช้ ในขณะเดียวกันการปรุงอาหารที่ใช้ส่วนต่างของกัญชาจะต้องมีความระมัดระวังไม่ให้เกิดผลเสียและหากใส่กัญชามากเกินพอดีอาจทำเกิดอาการไม่พึงประสงค์และเสียลูกค้าในร้านอาหารได้ ในขณะที่ผู้ที่ปลูกเพื่อจำหน่ายควรศึกษาเพื่อให้มีความชัดเจนเสียก่อนในเรื่องสายพันธุ์ วิธีการปลูก และคุณภาพให้เป็นไปตามผลิตภัณฑ์ของผู้ซื้อเพื่อป้องกันความเสียหายในทางธุรกิจของผู้ปลูกกัญชากัญชงเอง และควรระวังว่ากัญชายังไม่สามารถนำติดตัวไปยังต่างประเทศได้หากยังไม่มีใบรับรองทางการแพทย์หรือประเทศเหล่านั้นกำหนดให้กัญชายังคงเป็นยาเสพติตหรือห้ามนำเข้าจากประเทศอื่น

******************************************************
วันที่เผยแพร่ข่าว 8 มิถุนายน 2565 แถลงข่าว 26 / ปีงบประมาณ พ.ศ. 2565

ข้อมูล https://bit.ly/3mrTSkP