ท็อป เวนเจอร์ บริษัทในกลุ่มไทยออยล์ เข้าลงทุนในธุรกิจ “ไฮโดรเจนสีเขียว” (Green Hydrogen) ซึ่งเป็นก๊าซไฮโดรเจนที่ผลิตจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานจาก แสงอาทิตย์ พลังงานลม ผ่านการลงทุนในบริษัท Versogen สตาร์ทอัพชั้นนำจากประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีเทคโนโลยีโดดเด่นทางด้านเมมเบรน (Membrane) ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักในการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” แบบ Anion Exchange Membrane (AEM) Electrolyzers แม้ว่าในปัจจุบันจะมีการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตไฮโดรเจนสีเขียวในหลายรูปแบบ แต่ AEM ถือเป็นเทคโนโลยีที่มีความสามารถในการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” ที่ความบริสุทธิ์สูง ด้วยต้นทุนที่ต่ำ
นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) เผยว่า “ไทยออยล์มีเป้าหมายในการก้าวสู่ธุรกิจ “ไฮโดรเจนสีเขียว” จึงได้ลงทุนในบริษัท Versogen ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำด้านการวิจัย พัฒนาและผลิต AEM Membrane ทั้งนี้ AEM Electrolyzer เป็นนวัตกรรมใหม่ในการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” เพื่อรองรับความต้องการที่คาดว่า จะมีสูงมากจากทั่วโลกในอนาคต
ไทยออยล์เล็งเห็นถึงความเป็นไปได้ในการนำเทคโนโลยีการผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” มาใช้ในอุตสาหกรรมต่างๆ ในประเทศไทย เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งสามารถสนับสนุน Net Zero Greenhouse Gas Emission โดยไฮโดรเจนเริ่มมีการใช้งานอย่างเป็นรูปธรรม ในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศในทวีปยุโรปมีความต้องการใช้ “ไฮโดรเจนสีเขียว” เพื่อเป็นสารตั้งต้นในการผลิต (Feedstock) และเป็นแหล่งพลังงานในอนาคต
นายวิรัตน์ฯ กล่าวเสริมว่า “หนึ่งในกลยุทธ์การขับเคลื่อนองค์กรที่สำคัญของไทยออยล์ คือ กลยุทธ์การกระจายการเติบโตและสร้างความมั่นคงผ่านพอร์ตการลงทุน (Value Diversifications) ด้วยการแสวงหาโอกาสในการเข้าสู่ธุรกิจ New S-Curve ซึ่งการลงทุนในครั้งนี้จึงถือเป็นอีกก้าวสำคัญของการเดินตามกลยุทธ์ขององค์กรดังกล่าวและยังส่งเสริมการมุ่งสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emission และสอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไทยออยล์ในการ “สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน” อีกด้วย
ไทยออยล์มุ่งหน้าเสริมศักยภาพทางธุรกิจ โดยตั้งเป้าหมายว่าธุรกิจของไทยออยล์ในปี พ.ศ. 2573 จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจใหม่ประมาณ 10% จากธุรกิจโรงกลั่นปิโตรเลียม 40% ธุรกิจปิโตรเคมี 40% และ ธุรกิจโรงไฟฟ้า 10% และมีความตั้งใจที่จะเดินหน้าสร้างอนาคตที่ยั่งยืนด้วยกลยุทธ์การกระจายการเติบโตไปยังธุรกิจใหม่ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และธุรกิจใหม่เชิงนวัตกรรม อีกทั้งตั้งเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral) ในปี พ.ศ. 2593 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Greenhouse Gas Emission) ภายในปี พ.ศ. 2603
การลงทุนในเทคโนโลยีผลิต “ไฮโดรเจนสีเขียว” นับเป็นกุญแจสำคัญในการช่วยสนับสนุนการใช้พลังงานที่ผลิตจากพลังงานธรรมชาติ และมุ่งสู่ Net Zero Greenhouse Gas Emission รวมถึงการผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม