กรมปศุสัตว์ กำชับเจ้าหน้าที่บูรณาการกับทุกภาคส่วน เคาะประตูบ้าน เฝ้าระวังพิษสุนัขบ้า

วันที่ 28 เมษายน 2562 นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโตอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า ตามที่    กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข รายงานพบผู้เสียชีวิตด้วยโรคพิษสุนัขบ้า จำนวน 1 ราย ที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งถือว่าเป็นรายแรกของปี 2562 นั้น กรมปศุสัตว์ได้จัดส่งชุดเฉพาะกิจเคลื่อนที่เร็วจากส่วนกลางเข้าร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดสุรินทร์ ดำเนินการ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสุนัขในรัศมี 5 กิโลเมตร  รอบจุดที่ผู้เสียชีวิตถูกสุนัขกัด (พื้นที่ของเทศบาลเมืองสุรินทร์ ตำบลนอกเมือง แกใหญ่ เฉนียง คอโค ท่าสว่าง) ซึ่งจากการสำรวจ มีสุนัข 11,918 ตัว และแมว 5,937 ตัว รวมทั้งหมด 17,855 ตัว และจุดที่ผู้ป่วยพักอาศัยอยู่ก่อนเสียชีวิต (อำเภอสังขะ ตำบลกระเทียม รัศมี 5 กม มี หมู่ 1, 2 ,13 ,15, 17)  มีสุนัข 670 ตัว และแมว 226 ตัว รวมทั้งหมด 896 ตัว

นอกจากนี้ยังได้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ อาสาปศุสัตว์ทุกพื้นที่ทั่วประเทศบูรณาการกับ  ทุกภาคส่วนลงพื้นที่เคาะประตูบ้าน เพื่อเฝ้าระวังโรคพิษสุนัขบ้าเชิงรุกค้นหาสัตว์กลุ่มเสี่ยงหรือสัตว์   ที่แสดงอาการของโรคอย่างเข้มงวดอีกด้วย

อย่างไรก็ตามเนื่องจากในปีนี้มีสภาวะอากาศที่ร้อนมาก ซึ่งอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงอย่างหนึ่ง ที่จะทำให้สุนัขหรือแมวแสดงอาการของโรคพิษสุนัขบ้า จึงได้กำชับและเน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่ ยกระดับมาตรการป้องกันควบคุมโรคพิษสุนัขบ้าอย่างสูงสุดโดยให้ดำเนินการ ดังนี้

  1. จุดเกิดโรค รัศมี 5 กม.รอบจุดเกิดโรคต้องฉีดวัคซีนให้สุนัขและแมวครบ 100% ทุกตัว โดยใช้วัคซีนของกรมปศุสัตว์ที่ได้เตรียมพร้อมไว้เรียบร้อยแล้ว
  2. อาสาปศุสัตว์เคาะประตูบ้าน X-Ray ค้นหาสัตว์ป่วยเชิงรุกเพื่อรู้โรคเร็วและลดความเสี่ยงที่จะไปกัดคนรวมถึงค้นหาผู้สัมผัสสัตว์สงสัยให้ได้รับการฉีดวัคซีน
  3. เก็บตัวอย่างสัตว์ป่วยที่สงสัยเป็นโรคพิษสุนัขบ้าส่งตรวจซึ่งจะทราบผลตรวจภายใน 24 ชั่วโมง
  4. ร่วมกับอบต. เทศบาล รณรงค์ฉีดวัคซีนฟรี!!!ทั่วประเทศให้กับสุนัขและแมวเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันโรค
  5. ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ประชาชน เรื่องโรคพิษสุนัขบ้าและให้นำสัตว์ไปฉีดวัคซีนฟรี ที่ อบต. เทศบาล ปศุสัตว์อำเภอ หรือ ปศุสัตว์จังหวัด หากพบสัตว์เลี้ยง สุนัข-แมวมีอาการผิดปกติอย่าชะล่าใจให้แจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์อำเภอทุกพื้นที่เข้าควบคุมโรคพร้อมเก็บตัวอย่างส่งตรวจวินิจฉัย หรือสามารถเก็บตัวอย่างส่งตรวจที่ห้องปฏิบัติการกรมปศุสัตว์ได้ ทั้งนี้เพื่อเป็นการระงับเหตุ ลดความเสี่ยง และป้องกันคนหรือสัตว์ถูกกัดต่อไป