กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกำหนดจัดประชุมคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ ครั้งที่ ๑/๒๕๖๒ ในวันศุกร์ที่ ๒๖ เมษายน ๒๕๖๒ ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพมหานคร และกิจกรรมนิทรรศการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับถ้ำในประเทศไทย ความสำคัญของถ้ำ ความจำเป็นที่ต้องบริหารจัดการและแนวนโยบายของรัฐบาลในการบริหารจัดการเพื่อสร้างการรับรู้และการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน และสนับสนุนการดำเนินงานตามนโยบายของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติในอนาคต โดยมี พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา นายสมหมาย เตชวาล อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี นายชัยพร ศิริพรไพบูลย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านถ้ำ Mr.Vernon Unsworth นักสำรวจถ้ำ และ Mr.Joshua David Morris นักสำรวจถ้ำ ร่วมแถลงสรุปผลการประชุมฯ
คณะรัฐมนตรี มีมติเมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๖๒ เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ ซึ่งคณะกรรมการฯ มีองค์ประกอบ รวม ๒๖ คน ประกอบด้วย คณะที่ปรึกษา จำนวน ๔ คน คณะกรรมการ จำนวน ๒๒ คน มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานกรรมการ อธิบดีกรมทรัพยากรธรณี เป็นกรรมการและเลขานุการ รองอธิบดีกรมทรัพยากรธรณี รองอธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และ
รองอธิบดีกรมป่าไม้ เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ และมีกรรมการอีก จำนวน ๑๗ คน มีอำนาจหน้าที่กำหนดนโยบาย หลักเกณฑ์ แนวทางในการใช้ประโยชน์ การบริหารจัดการถ้ำ และแนวทางในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงกับการพัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนท้องถิ่น และบูรณาการการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวถ้ำร่วมกัน
ความจำเป็นที่จะต้องมีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำ
- ถ้ำเป็นทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญเพื่อการท่องเที่ยว ผจญภัย ศึกษาวิจัย แต่ยังไม่มีกฎหมายเฉพาะเกี่ยวกับการบริหารจัดการถ้ำและไม่มีองค์กรใดรับผิดชอบในการบริหารจัดการถ้ำในภาพรวม
- ไม่มีมาตรฐานการบริหารจัดการถ้ำอย่างบูรณาการ ทำให้ถ้ำจำนวนมากได้รับความเสียหาย
เสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว เกิดผลกระทบต่อสิ่งมีชีวิตและทรัพยากรภายในถ้ำ อีกทั้ง การขาดความรู้และ
ความเข้าใจเกี่ยวกับถ้ำ ทำให้เกิดอันตรายกับนักท่องเที่ยวได้
สถานการณ์การบริหารจัดการถ้ำของประเทศไทย
ปี ๒๕๖๑ กรมทรัพยากรธรณีระบุถ้ำในประเทศไทยมีไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ ถ้ำ สามารถระบุตำแหน่งได้ประมาณ ๓,๐๘๐ ถ้ำ ในจำนวนดังกล่าวถ้ำในภาคเหนือมากที่สุดถึง ๑,๓๙๙ แห่ง โดยมีเหตุการณ์คนหลงทางในถ้ำจำนวน ๒ ครั้ง ซึ่งเกิดขึ้นในถ้ำพระวังแดงจังหวัดพิษณุโลกและเหตุการณ์ ๑๓ ชีวิตของทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาเดมีติดถ้ำหลวงนาน ๑๐ วัน
การส่งเสริมให้“ถ้ำหลวง” วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลก
การประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อการส่งเสริมการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนเมื่อวันที่
๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๖๑ โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเป็นที่ปรึกษาร่วมได้พิจารณาเรื่องการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริม “ถ้ำหลวง”วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกโดยได้มีแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์การเตรียมแผนการพัฒนาพื้นที่อย่างเป็นระบบมีการก่อสร้างศาลาอนุสรณ์สถานสิบสามหมูป่าและอาคารพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์การช่วยชีวิตสิบสามหมูป่าแผนฟื้นฟูถ้ำหลวงขุนน้ำ-นางนอนอย่างยั่งยืนโดยให้ชุมชนมีส่วนร่วมและพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวระดับโลกได้ภายในปี พ.ศ. ๒๕๖๔
แนวทางการดำเนินงานต่อไปของคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการถ้ำแห่งชาติ
- ดำเนินการตามกรอบอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ๓ ด้าน คือ
- กำหนดนโยบายหลักเกณฑ์แนวทางในการใช้ประโยชน์การบริหารจัดการถ้ำ
- ศึกษา สำรวจ วิจัย จัดทำข้อมูลและประเมินศักยภาพถ้ำเพื่อการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ
- คณะกรรมการเป็นผู้กำหนดกรอบนโยบาย ROAD MAP ค่าเป้าหมายในระยะต่างๆ โดยใช้กลไกผ่านคณะอนุกรรมการ รวม ๒ อนุกรรมการ ประกอบด้วย
- อนุกรรมการด้านนโยบายและการมีส่วนร่วม มีอำนาจหน้าที่ ๑) จัดทำร่างนโยบายหลักเกณฑ์แนวทางในการใช้ประโยชน์การบริหารจัดการถ้ำและร่างแนวทางในการบริหารจัดการแบบมีส่วนร่วมกับภาคส่วนต่างๆ
- อนุกรรมการด้านวิชาการ มีอำนาจหน้าที่ ๑) ดำเนินการให้มีการศึกษาสำรวจวิจัยจัดทำข้อมูลและประเมินศักยภาพถ้ำเพื่อการพัฒนาและการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ๒) จัดทำข้อเสนอแนะทางวิชาการในการสำรวจวิจัยพัฒนา ๓) จัดทำสถานการณ์การบริหารจัดการถ้ำของประเทศไทยรายปี