กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข เผยได้รับรายงานล่าสุดพบผู้เสียชีวิตโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย ที่จังหวัดสุรินทร์ ซึ่งเป็นรายแรกของปี 2562 แนะให้ประชาชนยึดหลัก “คาถา 5 ย.” ลดความเสี่ยงการรับเชื้อ เตือนหากถูกสุนัข-แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล อย่าชะล่าใจ ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า
วันที่ (27 เมษายน 2562) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคพิษสุนัขบ้าในปี 2562 ล่าสุดกรมควบคุมโรคได้รับรายงานพบผู้เสียชีวิตจากโรคพิษสุนัขบ้า 1 ราย เป็นเพศชาย อายุ 32 ปี ที่จังหวัดสุรินทร์ โดยก่อนเสียชีวิตได้เข้ารับการรักษาด้วยอาการมีไข้สูง สับสน และกลืนลำบาก ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการพบว่าติดเชื้อไวรัสโรคพิษสุนัขบ้า ผู้เสียชีวิตมีประวัติถูกสุนัขจรจัดกัด ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2561 แต่ไม่ได้พบแพทย์เพื่อรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งผู้เสียชีวิตรายดังกล่าวถือเป็นผู้เสียชีวิตรายแรกของปี 2562
ดังนั้น กรมควบคุมโรค จึงขอแนะนำว่าหากถูกสุนัข แมวกัด ข่วน หรือเลียบาดแผล แม้เพียงเล็กน้อย อย่าชะล่าใจ ควรรีบล้างแผลด้วยน้ำและสบู่ทันทีหลายๆครั้ง นานประมาณ 10 นาที และใส่ยาเบตาดีน เพื่อลดการติดเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า จากนั้นรีบไปพบแพทย์ทันที เพื่อวินิจฉัยและรับวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า หากฉีดวัคซีนแล้วควรไปตามนัดทุกครั้ง นอกจากนี้ ควรสังเกตสุนัขว่ามีอาการผิดปกติหรือตายใน 10 วันหรือไม่ ภายหลังสุนัขตัวนั้นไปกัดข่วนคน ต้องรีบไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ขอให้ยึดหลัก “คาถา 5 ย.” เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ดังนี้ 1.อย่าแหย่ ให้สัตว์โมโหเพราะอาจโดนข่วนหรือกัดได้ 2.อย่าเหยียบ บริเวณลำตัว ขา หรือหางของสัตว์ 3.อย่าแยก สัตว์ที่กำลังกัดกันด้วยมือเปล่า 4.อย่าหยิบ จานข้าวหรืออาหารขณะสัตว์กำลังกิน และ 5.อย่ายุ่ง กับสัตว์ที่ไม่รู้จักคุ้นเคย เพื่อลดความเสี่ยงการรับเชื้อโรคพิษสุนัขบ้า ทั้งนี้ ต้องนำสุนัขและแมวไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าเป็นประจำทุกปี โดยขณะนี้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นกำลังเร่งรัดรณรงค์ฉีดวัคซีนให้กับสุนัขและแมวฟรี ตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนมิถุนายนนี้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า หากเคยถูกสัตว์กัดหรือข่วนนานแล้ว แม้ว่ารอยแผลจะเพียงเล็กน้อยก็ตาม แล้วไม่ได้ไปฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ขอให้ท่านไปปรึกษาแพทย์โดยเร็ว เพื่อรับการวินิจฉัย เนื่องจากระยะฟักตัวของโรค ตั้งแต่ได้รับเชื้อจนมีอาการป่วยอาจสั้นมากตั้งแต่ 1 สัปดาห์หรืออาจนานถึง 1 ปี ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422
*************************************************
ข้อมูลจาก: สำนักโรคติดต่อทั่วไป / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค