“จากการเฝ้าระวังของกรมควบคุมโรค สถานการณ์โรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษในปีนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2565 พบผู้ป่วย 265 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต กลุ่มอายุที่พบมากที่สุดคือ มากกว่า 65 ปี (27.17%), 55-64 ปี (21.89%) และ 45-54 ปี (21.51%) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบผู้ป่วยมากที่สุด ซึ่งในเดือนพฤษภาคมพบผู้ป่วย 182 ราย คิดเป็นร้อยละ 68.68 ของผู้ป่วยทั้งหมด”
“การพยากรณ์โรคและภัยสุขภาพของสัปดาห์นี้ คาดว่าจะพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษจากการรับประทานเห็ดพิษเพิ่มขึ้น เนื่องจากเห็ดหลายชนิดเจริญเติบโตได้ดีในช่วงฤดูฝน โดยในธรรมชาติมีทั้งเห็ดที่รับประทานได้และเห็ดพิษ ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกันและแยกชนิดได้ยาก ทำให้ประชาชนเข้าใจผิด เห็ดพิษหลายชนิดไม่สามารถทำลายพิษได้ด้วยความร้อน ประชาชนจึงควรตระหนักและระมัดระวังในการนำเห็ดป่ามารับประทาน อาการที่สังเกตได้หลังรับประทานเห็ดพิษ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ปวดท้อง เป็นตะคริวที่ท้อง ภายใน 6-24 ชั่วโมง หากเกิน 24 ชั่วโมง จะทำให้เกิดภาวะตับหรือไตวาย ส่งผลให้ผู้รับประทานเห็ดพิษเสียชีวิตได้
กรมควบคุมโรค ขอแนะนำว่า หลังรับประทานเห็ด หากมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ให้รีบไปพบแพทย์โดยเร็ว พร้อมทั้งนำตัวอย่างเห็ดและอาหารที่เหลือจากการรับประทานไปเพื่อตรวจวิเคราะห์ด้วย ทั้งนี้ ขอเน้นย้ำประชาชนว่า หากไม่แน่ใจ ไม่รู้จัก หรือสงสัยว่าจะเป็นเห็ดพิษ ไม่ควรเก็บหรือซื้อมาปรุงอาหาร ควรเลือกเห็ดจากแหล่งที่มีการเพาะพันธุ์เพื่อความปลอดภัย หลีกเลี่ยงเห็ดจากธรรมชาติ และควรหลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์ร่วมกับเห็ด
สอบถามข้อมูลได้ที่ศูนย์พิษวิทยา รพ.รามาธิบดี โทร.1367 หรือสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422”
*******************************************************
ข้อมูลจาก : ทีม SAT / สำนักสื่อสารความเสี่ยงฯ กรมควบคุมโรค
วันที่ 6 มิถุนายน 2565