สพฉ. เปิดผลวิจัย “สิ่งคุกคามต่อสุขภาพและอุบัติเหตุจราจร ของคนขับรถปฏิบัติการฉุกเฉิน” หาแนวทางพัฒนามาตรฐานรถฉุกเฉินรักษาชีวิตบุคลากรในรถปลอดภัย พบสถิติรถฉุกเฉินเกิดอุบัติเหตุจากการไปชนรถคันอื่น ร้อยละ 67.8
ช่วงระยะเวลา 3-4 ปี ที่ผ่านมา เรามักเห็นข่าวคราวรถพยาบาล หรือ รถฉุกเฉิน ประสบอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง ทำให้หลายฝ่ายเกิดความห่วงใย และกังวลถึงความปลอดภัยต่อบุคลากรทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นพนักงานขับรถ พยาบาล ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ฉุกเฉิน ที่คอยช่วยเหลือผู้ป่วยภายในรถ หรือแม้แต่ตัวผู้ป่วยเอง โดยข้อมูลในปี 2559 – 2562 เกิดอุบัติเหตุกับรถฉุกเฉินทั้งสิ้น 110 ครั้ง มีผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต 318 ราย เป็นพยาบาลและบุคลากรในระบบการแพทย์ฉุกเฉิน 129 ราย ซึ่งอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดขณะส่งต่อผู้ป่วยระหว่างสถานพยาบาลถึงร้อยละ 80
ทั้งนี้ที่ผ่านมา สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ได้กำหนดนโยบายสนับสนุนให้ผู้ป่วยวิกฤตได้รับการปฏิบัติการฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพภายในเวลา 8 นาที ซึ่งการดำเนินนโยบายเช่นนี้ช่วยให้ผู้ป่วยวิกฤตเพิ่มโอกาสรอดชีวิตมากขึ้น แต่ผู้ปฏิบัติงานฉุกเฉินก็ต้องทำงานแข่งกับเวลา คนขับรถต้องขับรถด้วยความรวดเร็วเพื่อไปรับผู้ป่วยวิกฤต ณ สถานที่เกิดเหตุ และนำส่งสถานพยาบาลภายในระยะเวลาที่เหมาะสม ด้วยลักษณะการทำงานที่เร่งรีบเช่นนี้ ทำให้บุคลากรกลุ่มนี้ได้รับความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุจราจรระหว่างการปฏิบัติงานเพิ่มมากขึ้น และเพื่อสร้างความเข้าใจในความเสี่ยง สพฉ. และคณะวิจัย นำโดยแพทย์หญิง นภัสวรรณ พชรธนสาร จึงทำการสำรวจ “สิ่งคุกคามต่อสุขภาพและอุบัติเหตุจราจรระหว่างการปฏิบัติงานของคนขับรถปฏิบัติการฉุกเฉิน” เพื่อหาแนวทางในการป้องกันและแก้ไข ซึ่งการสำรวจในครั้งนี้เริ่มที่ จังหวัดชลบุรี ใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจง 199 คน ในโรงพยาบาลเอกชน 1 แห่ง และมูลนิธิกู้ภัย 3 แห่ง
ผลการศึกษาพบว่า คนขับรถปฏิบัติการฉุกเฉิน ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย มีอายุเฉลี่ย 36.7 ปี ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำร้อยละ 33.2 หรือเฉลี่ย 2.2 ครั้งต่อสัปดาห์ , ดื่มกาแฟเป็นประจำร้อยละ 48.7 หรือเฉลี่ย 1.6 แก้วต่อวัน , ดื่มเครื่องดื่มบำรุงกำลังเป็นประจำ ร้อยละ 35.7 หรือเฉลี่ย 1.2 ขวดต่อวัน , นอนหลับน้อยกว่า 6 ชั่วโมงต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 10.1 และไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำร้อยละ 43.2
ซึ่งในกลุ่มตัวอย่างนี้ มี 42 คน เคยประสบอุบัติเหตุจราจรในช่วงเวลาการทำงาน 56 ครั้ง ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่ของการเกิดอุบัติเหตุจราจรคือไปชนยานพาหนะคันอื่นร้อยละ 67.8 และมักจะเกิดในระหว่างช่วงเวลา 20.01 – 24.00 น.มากถึงร้อยละ 67.8 และระหว่างช่วงเวลา 20.01-24.00 น. ร้อยละ 33.9 ด้วยความเร็วในการขับขี่ 81-100 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ซึ่งการเกิดอุบัติเหตุมีสาเหตุ มาจากหลายปัจจัย ทั้งปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านพาหนะ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมและกายภาพ
นอกจากนี้ยังได้รับความเสี่ยงจากการสัมผัสกับสิ่งคุกคามในขณะปฏิบัติหน้าที่ อาทิ การสัมผัสเลือดจากผู้ป่วยร้อยละ 49.3 ยกของหนักร้อยละ 46.2 หรืออุบัติเหตุจากของมีคม ถูกทำร้ายร่างกาย และความกดดันทางจิตใจ โดยสถิติที่ผ่านมาพบว่าคนขับรถปฏิบัติการฉุกเฉินมีโอกาสเสี่ยงที่จะมีปัญหาสุขภาพจิตเป็นจำนวนร้อยละ 16.2
นายแพทย์สัญชัย ชาสมบัติ รองเลขาธิการ สพฉ. ระบุว่า แม้อุบัติเหตุไม่มีใครสามารถคาดการณ์ได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อใด แต่หากมีการเตรียมพร้อม ก็จะช่วยลดตัวเลขการสูญเสียได้ ซึ่งที่ผ่านมา สพฉ. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญ จึงได้กำหนดมาตรฐานความปลอดภัยรถพยาบาล และ สพฉ. ได้ออกประกาศหน่วยปฏิบัติการเพื่อพัฒนาคุณภาพและความปลอดภัย โดยมาตรฐานของรถ คือต้องมีอุปกรณ์พร้อม ทั้งเครื่องมือ สิ่งอำนวยความสะดวก อาทิ เครื่องวัดความดัน อุปกรณ์ในการดูแลผู้ป่วย อุปกรณ์ติดตามสัญญาณชีพผู้ป่วย เก้าอี้นั่งเจ้าหน้าที่ภายในรถ เตียงนอนผู้ป่วย จะต้องมีมาตรฐาน มีเข็มขัดนิรภัย และอุปกรณ์ผูกรัดมัดตึง เพื่อช่วยรักษาชีวิตบุคคลภายในได้อย่างปลอดภัย
ส่วนมาตรฐานบุคลากร ต้องมีการอบรมพนักงาน อย่างต่อเนื่อง ไม่เว้นแม้แต่บุคลากรทางการแพทย์ก็ต้องฝึกฝนเช่นกัน เพราะการขึ้นไปอยู่บนรถฉุกเฉิน ต้องมีทักษะการยืน นั่ง ในรถให้เป็น และที่สำคัญที่สุด คนขับรถ ต้องขับขี่อย่างปลอดภัย มีความพร้อม ทั้งสภาพร่างกายจิตใจ มีการตรวจเช็กสภาพรถให้พร้อมอยู่เสมอเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ